สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

                    โดยที่การดำเนินการบริหารจัดการงบประมาณของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน แต่เมื่อไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในปีงบประมาณหรือมีเงินเหลือจ่ายเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาต้องดำเนินการขอกันเงินไว้เบิกจ่ายต่อกระทรวงการคลังหรือส่งเงินคืนคลัง ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาไม่มีความคล่องตัว เพื่อให้การดำเนินงานของส่วนราชการสังกัดรัฐสภามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาสามารถนำเงินงบประมาณประจำปีเหลือจ่ายมาใช้ในปีงบประมาณถัดไป โดยกำหนดให้เงินอุดหนุนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 รายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของหน่วยงานราชการสังกัดรัฐสภา ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ให้แก่ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ดอกผลหรือประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา เงินที่ได้รับชำระตามอำนาจหน้าที่หรือสัญญา และรายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด เป็นรายได้และทรัพย์สินในการดำเนินการของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา และกำหนดให้รายได้ของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น ๆ

 

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

    1.1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

    1.2 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม

    2.1 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

    2.2 กรมบัญชีกลาง

    2.3 สำนักงบประมาณ

3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

    ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

                   1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้เงินอุดหนุน รายได้และทรัพย์สินของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ไม่เป็นเงินรายได้แผ่นดินที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น ๆ

                   2. ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา หรือปัจจุบันนี้ประสบสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณหรือไม่ อย่างไร การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในครั้งนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณได้หรือไม่

                   3. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)