โดยที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะตามหลักสิทธิชุมชน ซึ่งชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ก่อให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งของราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติกับรัฐและกับราษฎรด้วยกันเอง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นภายใต้ความขัดแย้งดังกล่าว แม้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ขึ้นมาใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน โดยมีการผ่อนผันให้ราษฎรครอบครองทำประโยชน์และใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับมา 5 ปีแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แม้แต่พื้นที่เดียว และยังมีข้อคัดค้านทักท้วงมากมายว่าไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้อาศัยทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ อีกทั้ง มีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับสิทธิไว้แคบเกินไป การผ่อนผันมีเงื่อนไขและข้อกำหนดมากมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันเพื่อให้ราษฎรได้มีสิทธิในที่ดินและสิทธิในการจัดการทรัพยากรต่อไป จึงเสนอเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตซึ่งจัดทำด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือระบบอื่นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6)
2. แก้ไขเพิ่มเติมให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น หรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และกำหนดให้พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ทับซ้อนออกและให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามหลักการสิทธิชุมชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)
3. แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนผู้มีส่วนได้เสีย ผู้แทนชุมชนและผู้แทนภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 วรรคสาม)
4. แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้มีหน้าที่
เพียงเสนอแนะการกำหนดพื้นที่ใดเป็นวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ รวมทั้ง การขยาย หรือการเพิกถอนวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และเสนอแนะเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 (3) (4))
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ
1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
1.2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
1.3 กรมที่ดิน
2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.3 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
2.4 สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
2.5 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีแผนที่แสดงแนวเขตซึ่งจัดทำด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือระบบอื่นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแนบท้ายพระราชบัญญัตินั้นด้วย
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตาม ข้อ 1.
2.1 ต้องไม่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น หรือต้องไม่เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ กรณีเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนตามวรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ทับซ้อนออกและให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
2.2 การกำหนดอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ดูแลรักษา หรือเป็นของหน่วยงานของรัฐ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชขอความเห็นจากหน่วยงานของรัฐนั้นก่อน
2.3 การกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน โดยห้ามมิให้เพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อนำมากำหนดเป็นวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไของค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ
อุทยานแห่งชาติ ซึ่งต้องมีผู้แทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร่วมกับคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
5. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)