ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โดยในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตลอดจนการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนึในคดีอาญา คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ เพื่อให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเพื่อให้การวินิจฉัยคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
- สำนักงานศาลยุติธรรม
- สำนักงานอัยการสูงสุด
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- กรมคุมประพฤติ
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2) สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
3) กรมราชทัณฑ์
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขหลักเกณฑ์การขอปล่อยชั่วคราว จากเดิมที่เป็นดุลพินิจประกอบข้อพิจารณาของเจ้าพนักงานหรือศาล เปลี่ยนเป็นการใช้หลักประกันและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยหากผู้ต้องหาหรือจำเลยมีประกันและยินยอมให้ใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ให้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ (ร่างมาตรา 3)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการยกเลิกมาตรา 109 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2522 เรื่อง การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องหาหรือถูกฟ้องในความผิดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น (ร่างมาตรา 4)
- ท่านเห็นว่าหลักเกณฑ์การขอปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับปัจจุบัน มีความเหมาะสมหรือมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
- ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)