ร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะตามหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้ชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงทำให้เกิดข้อพิพาทความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ ประชาชนกับประชาชน ทั้งที่มีประชาชนที่ได้อยู่อาศัยครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการถูกประกาศแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติประกาศทับและมีประชาชนยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อการประกอบอาชีพหรือเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีสภาพเป็นป่าหรือมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม หรือไม่เป็นป่าที่ควรอนุรักษ์เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ดังนั้น รัฐจึงควรช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่เพียงพอเพื่อการดำรงชีพ และได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์พื้นที่ก่อนหนึ่งปีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สามารถประกอบอาชีพและอยู่อาศัย โดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญา โดยกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจพิจารณาความเหมาะสมในการออกหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด นอกจากนี้ กรมป่าไม้ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลระดับกรม ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมที่เป็นมาตรฐานหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติ โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการในกิจการของป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ ในการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพความเป็นจริงของพื้นที่เพื่อให้ราษฎรได้มีสิทธิในที่ดินและสิทธิในการจัดการทรัพยากรต่อไป โดยกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจพิจารณาความเหมาะสมในการออกหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ตารางเปรียบเทียบ ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กรมป่าไม้
1.2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.3 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
2.4 สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
2.5 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต้องไม่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น หรือต้องไม่ได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ หากประชาชนอยู่อาศัย ทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น กำหนดให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนออก และให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย นอกจากนี้หากสิทธิการครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินเกิดขึ้นภายหลังจากที่ดินได้รับการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น ให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิแก่ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
- ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้ผู้ซึ่งไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่ถึง 20 ไร่ ซึ่งได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งไม่มีสภาพเป็นป่า หรือเป็นป่าเสื่อมโทรม และไม่เป็นที่ควรอนุรักษ์เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เนื้อที่ไม่เกิน 25 ไร่ เพื่อยึดถือครอบครองและทำประโยชน์แล้ว เป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ สามารถยื่นคำขอต่อผู้บริหารท้องถิ่นที่ป่านั้นตั้งอยู่ เพื่อขอหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น
- ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจพิจารณาอนุญาตออกหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด โดยการออกหนังสือรับรองดังกล่าว ต้องกระทำโดยไม่ชักช้า และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และหากมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 90 วัน และคำสั่งของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นที่สุด
- ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้การขออนุญาตและการอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณาโดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการด้วย
- ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองหรือจำกัดสิทธิชุมชนหรือประชาชนในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ดิน หรือไม่ และร่างพระราชบัญญัตินี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หรือไม่
- ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)