เนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับสภาพการในปัจจุบันและไม่สอดคล้องกับหลักการที่เป็นมาตรฐานแรงงานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายมาตรายังขัดกับหลักการในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 89 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองและถูกกำหนดให้เป็นอนุสัญญาหลัก เป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมอย่างจริงจัง จึงเป็นเหตุให้คนทำงานและผู้จ้างงานส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้จริง ภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ยังมีข้อจำกัดที่จะทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานและผู้จ้างงานได้ ดังจะเห็นว่ามีปัญหาข้อขัดแย้งและข้อพิพาทด้านแรงงานจำนวนมาก และหลายครั้งที่ความขัดแย้งและข้อพิพาทได้นำสู่ การต่อสู้เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับทั้งคนทำงาน ผู้จ้างงาน และประเทศชาติโดยรวม
สิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิดังกล่าวมีการรับรองไว้ในอนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ ที่สำคัญคืออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ประเทศไทยแม้รัฐธรรมนูญจะมีบทบาท ที่รับรองสิทธิในการรวมตัวกันของประชาชน แต่กฎหมายลำดับรอง ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ล้วนยังมีสาระสำคัญ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว กฎหมายครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบกับพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ยังมีคนทำงานอีกมากมายทั้งที่ถูกเรียกว่า แรงงานนอกระบบ ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐที่ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ ในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้อย่างแท้จริง ทำให้ประเทศกลายเป็นประเทศที่คนทำงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราที่ต่ำที่สุดของโลกหรือราวร้อยละ 1.5 เท่านั้น และการที่คนงานส่วนใหญ่ไม่สามารถรวมตัวและทำการเจรจาต่อรองร่วมได้ ทำให้คนทำงานต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีค่าจ้างต่ำ สวัสดิการที่เลวร้าย ต้องทำงานหนักและยาวนานในแต่ละวัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกด้วย
เพื่อให้กฎหมายมีหลักการและสาระที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและหลักการอันเป็นสากลที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งต่อการยอมรับของนานาอารยะประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่คนทำงาน และผู้จ้างงานสามารถทำงานร่วมกันด้วยความพอใจอย่างสันติสุข และต่างได้รับความเป็นธรรม และที่สำคัญ คือสามารถนำสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค จึงเห็นสมควร ให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน พ.ศ. .... ฉบับนี้ขึ้น
1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
1) ปลัดกระทรวงแรงงาน
2) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) สำนักงานประกันสังคม
2) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)
3) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
4) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
5) สภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
6) สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
7) สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย
8) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย
9) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป ประชาชน