[14/06/67 19:20] ตัดข้อมูลที่ถูกส่งหลังวันที่สิ้นสุด
ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมือง โดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หากนับจากความขัดแย้งภายหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองจนนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและประชาชนหลายพันคน ความขัดแย้งยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยไม่สงบจากการรัฐประหาร สร้างความเสียหายต่อระบบนิติรัฐและประชาธิปไตย ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ถือครองอำนาจรัฐไม่ต้องรับผิดใด ๆ ประชาชนกลับถูกดำเนินคดีมาโดยตลอด เนื่องในโอกาสที่ประเทศกลับมาสู่การเลือกตั้งและรัฐบาลมีที่มาจากประชาชน สมควรปลดเปลื้องคดีความทางการเมืองเพื่อโอกาสในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน เป็นการคืนความยุติธรรมแก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้นิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ โดยมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่คดีตามร่างมาตรา 5 ซึ่งได้รับการนิรโทษกรรมโดยคณะกรรมการไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้
1. คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2. คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557
3. คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
4. คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
5. คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
6. คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น
ทั้งนี้ การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้รับนิรโทษกรรม และหากการกระทำของบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้สร้างความเสียหายแก่บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้เสียหายนั้นยังคงมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำ
อนึ่ง โดยที่คำวินิจฉัยและประกาศของคณะกรรมการไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง การโต้แย้งคำวินิจฉัยและประกาศดังกล่าวจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่นตามมาตรา 194 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
1.2 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานอัยการสูงสุด
2.2 สำนักงานศาลยุติธรรม
2.3 สำนักงานศาลปกครอง
2.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.5 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.6 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
2.7 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
2.8 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
2.9 กรมราชทัณฑ์
2.10 กรมองค์การระหว่างประเทศ
2.11 สถาบันพระปกเกล้า
2.12 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)
2.13 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
2.14 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
2.15 ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.16 ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มี "คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน" เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ และระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมการนี้
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามฐานความผิดในร่างมาตรา 5 โดยที่คณะกรรมการไม่ต้องพิจารณา
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่ได้กระทำไปเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้บุคคลที่อาจเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการลบทะเบียนประวัติอาชญากรรมของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องมีการร้องขอจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ได้
8. ท่านเห็นว่าการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เพียงใด
9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)