ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก พ.ศ. .... เสนอเพื่อเป็นการส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพและขีดความสามารถทั้งทางด้านทรัพยากรและศักยภาพของพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนหรือกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงการค้า การนำเข้า การส่งออกมีฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ เป็นเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากิจกรรมทางด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือด้านอื่น ๆ ที่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การจัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรค ส่งเสริมการประกอบกิจการ กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ
ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก จะมีการกำหนดเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ คือ โครงการด้านการพัฒนากิจการหรืออุตสาหกรรมที่คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนด ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก มีนายกรัฐมนตรี
เป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหัวหน้าส่วนราชการ สมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยให้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ให้ความเห็นชอบแผนเพื่อการพัฒนา แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินการประกาศเขตพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจและปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก สำหรับกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนามีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก และกำหนดให้สำนักงบประมาณมีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณ เงินอุดหนุนทั่วไป หรืองบประมาณอื่นใดให้แก่สำนักงานได้โดยตรง
ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก กำหนดให้คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดเขตส่งเสริมพิเศษ และกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน หรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์
ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ หรือเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ
เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว
เพราะการส่งเสริมด้านการบริหารด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ระบบอนุมัติ อนุญาต ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์เป็นการบริหารที่มีลักษณะรวมศูนย์ ขาดการส่งเสริมการกระจายโอกาสในเชิงพื้นที่ อีกทั้งการจัดทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ยังขาดความต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยง ไม่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเชิงพื้นที่หรือกลุ่มจังหวัดได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรกำหนดให้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออกในพื้นที่กลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) สำนักนายกรัฐมนตรี
2) กระทรวงการคลัง
3) กระทรวงอุตสาหกรรม
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงกลาโหม
2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3) กระทรวงคมนาคม
4) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
5) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6) กระทรวงพลังงาน
7) กระทรวงพาณิชย์
8) กระทรวงมหาดไทย
9) กระทรวงแรงงาน
10) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
11) กระทรวงศึกษาธิการ
12) กระทรวงสาธารณสุข
13) สำนักงบประมาณ
14) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
15) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
16) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
17) สมาคมธนาคารไทย
18) กรมธนารักษ์
19) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
20) กรมโยธาธิการและผังเมือง
21) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
22) กรมศุลกากร
23) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
24) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้พื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ เป็นเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออกและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
2. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก และการกำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้
3. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก และการกำหนดให้สำนักงบประมาณมีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณ เงินอุดหนุนทั่วไปหรืองบประมาณอื่นใดให้แก่สำนักงานได้โดยตรง
4. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีเขตส่งเสริมพิเศษ และอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ส่งเสริมให้เกิดกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูง
5. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนาเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก
6. ปัจจุบันการพัฒนาและการบริหารเชิงพื้นที่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่มีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นได้หรือไม่
7. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ