สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต เนื่องจากประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 และได้แสดงเจตจำนงที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศให้มีความยั่งยืนโดยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  ในการนี้ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและดำเนินตามพันธกรณีระหว่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีกลไกภาคบังคับและส่งเสริมที่เข้มงวดเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด  อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่มีใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถครอบคลุมการดำเนินการดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

     ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติด้วยการสนับสนุนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผ่านกลไกการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

     1. การกำหนดสิทธิของบุคคลและชุมชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิที่จะได้รับแจ้งข้อมูลและการสนับสนุนจากรัฐ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการจัดการปัญหา สิทธิในการได้รับการส่งเสริมการดำเนินงาน และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกละเมิด

     2. การกำหนดเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน การกำหนดแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติซึ่งต้องมีการทบทวนทุกห้าปี การกำหนดแผนการปรับตัว และการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัว

     3. การจัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และฐานข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกำหนดให้เอกชนรายงานข้อมูลกิจกรรมและปริมาณการปล่อย กักเก็บ และดูดซับก๊าซเรือนกระจก

     4. การจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อดำเนินหรือจัดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเพื่อการได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่จะเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี

     5. การกำหนดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการวางระบบซื้อขายสิทธิดังกล่าวแก่นิติบุคคลควบคุม โดยควบคุมให้นิติบุคคลปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่าสิทธิที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี

     6. การจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยเรียกเก็บจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าสินค้าที่กำหนดตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ประเมินได้ในจุดหนึ่งจุดใดของวัฏจักรชีวิตของสินค้า

     7. การจัดการและใช้คาร์บอนเครดิตที่ได้ขึ้นทะเบียนหรือรับรองแล้วเพื่อนำมาหักกลบสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ และการกำกับดูแลธุรกิจและบริการคาร์บอนเครดิต

     8. การใช้โทษปรับทางพินัยบังคับแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     1.2 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

     1.3 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

     1.4 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     2.2 สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

     2.3 สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

     2.4 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     2.5 สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     2.6 สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

     2.7 สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

     2.8 สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

     2.9 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

     2.10 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

     2.11 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

     2.12 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

     2.13 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

     2.14 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

     2.15 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     2.16 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

     2.17 สำนักงบประมาณ

     2.18 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

     2.19 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

     2.20 กรมบัญชีกลาง

     2.21 กรมอุตุนิยมวิทยา

     2.22 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

     2.23 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

     2.24 สมาคมธนาคารไทย

     2.25 มูลนิธิดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูเอฟ

     2.26 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

     2.27 มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอส อี เอ)

     2.28 มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

     2.29 มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

     2.30 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

     2.31 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

     2.32 Carbon Markets Club

     2.33 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

     2.34 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

     2.35 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

     2.36 บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด

     2.37 ศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     - ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า บุคคลและชุมชนควรมีสิทธิเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิที่จะได้รับแจ้งข้อมูลและการสนับสนุนจากรัฐ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการจัดการปัญหา สิทธิในการได้รับการส่งเสริมการดำเนินงาน และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกละเมิด (ร่างมาตรา 7)

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน และให้มีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และเห็นด้วยหรือไม่กับวิธีการกำหนดเป้าหมายหรือจัดทำแผน และรายละเอียดของเป้าหมาย แผนแม่บทและแผนย่อยอื่น ๆ (ร่างมาตรา 8 – 12, 35 – 39, 67 – 72 และ 134 – 141)

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า การดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้จำเป็นต้องมี "คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ" เพื่อพิจารณาการออกกฎหมายลำดับรอง กำหนดนโยบายการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติ และเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการและกรรมการ (ร่างมาตรา 13 – 21)

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อดำเนินหรือจัดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน และเห็นด้วยหรือไม่กับรายได้ การใช้จ่ายเงิน และการบริหารจัดการของกองทุน (ร่างมาตรา 22 – 34 และ 142 – 143)

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจก และฐานข้อมูลด้านภูมิอากาศและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ทางระบบสารสนเทศ และเพื่อประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูล ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้เอกชนรายงานข้อมูลกิจกรรมแก่หน่วยงานรัฐ หรือให้นิติบุคคลตรวจวัดและรายงานปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินการ (ร่างมาตรา 40 – 66 และ 125 – 133)

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มี “สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง และให้มีระบบซื้อขายสิทธิเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยนิติบุคคลควบคุมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงจะใช้สิทธิดังกล่าวได้เทียบเท่ากับจำนวนที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี (ร่างมาตรา 73 – 98)

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการจัดเก็บ “ภาษีคาร์บอน” จากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าสินค้าที่กำหนด ตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกในจุดใดจุดหนึ่งของวัฏจักรชีวิตของสินค้าโดยรายละเอียดภาษีเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 99 – 112)

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้คาร์บอนเครดิตเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้ขึ้นทะเบียนหรือได้รับการรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแล้ว อาจนำมาใช้ในประเทศโดยแปลงเป็นสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักกลบ หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศตามกรอบความตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีได้ (ร่างมาตรา 113 – 124)

     9. ท่านเห็นว่ามาตรการเตรียมความพร้อมและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่เพียงพอหรือไม่ และร่างพระราชบัญญัตินี้จะแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพียงใด

     10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)