สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการประมงพื้นบ้าน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดพื้นที่สำหรับทำการประมงพื้นบ้านในพื้นที่ที่มีศักยภาพและจัดสรรสิทธิครอบครองพื้นที่ให้ประชาชนทำการประมงพื้นบ้านอย่างเป็นระบบ ผ่านการควบคุมคุณภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งจะสามารถช่วยให้การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการทำประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้มาจากการประมงพื้นบ้านรองลงมาจากการทำประมงพาณิชย์ แต่ในปัจจุบันปรากฎปัญหาการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจากการประมงพื้นบ้านเนื่องจากการครอบครองพื้นที่สำหรับทำการประมงพื้นบ้านยังไม่เป็นระบบ และชาวประมงยังขาดการจัดการที่ดีและไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้ผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการประมงพื้นบ้านไม่มีคุณภาพและยังก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดเกี่ยวกับการพัฒนาฐานข้อมูลการครอบครองพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้านให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย ซึ่งส่งผลให้การทำประมงพื้นบ้านมีระบบและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และเมื่อการทำประมงพื้นบ้านมีมาตรฐานและมีการครอบครองพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้านอย่างเป็นระบบ ผู้มีสิทธิครอบครองควรสามารถนำหนังสือรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สำหรับทำการประมงพื้นบ้านไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินหรือขอสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเพื่อให้สถานภาพทางการเงินเกิดความคล่องตัว และสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีพตามสมควรได้ต่อไป

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

         1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

             1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

             2) กรมประมง

          2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

             1) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

             2) ธนาคารแห่งประเทศไทย

             3) สมาคมสมาพันธ์การประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

             4) องค์การสะพานปลา

          3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

             ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

          1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดพื้นที่และสิทธิในพื้นที่สำหรับทำการประมงพื้นบ้านหรือไม่ อย่างไร

          2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้สิทธิการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้านไม่อาจ
โอนให้แก่กันได้ เว้นแต่เป็นการโอนโดยทางมรดกหรือทายาทโดยธรรมหรือไม่ อย่างไร

          3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้สามารถนำหนังสือรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้านไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินหรือขอสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือจากสถาบันการเงินหรือไม่ อย่างไร

          4. ท่านเห็นว่าการทำประมงพื้นบ้านในปัจจุบันมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไร และการเสนอ
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร

          5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)