สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

                  ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. .... นี้ เสนอยกเลิกกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และ วีดิทัศน์ฉบับปัจจุบัน (พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551) และบัญญัติกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์ฉบับใหม่ เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งมีการจำกัดเสรีภาพเกินสมควร จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย ไม่สามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

                  โดยเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติให้มีภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาครัฐได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บางประการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แห่งชาติ และการยกเลิกการกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ รวมถึงการปรับเกณฑ์อายุผู้ชมภาพยนตร์เพื่อลดอำนาจการควบคุมจากภาครัฐ ตลอดจนการปรับมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก การยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการวีดิทัศน์ซึ่งหมดความจำเป็นในปัจจุบัน และการยกเลิกโทษทางอาญาโดยให้ใช้มาตรการปรับทางพินัยแทน เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม และสนับสนุนเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ได้กว้างขวางมากขึ้น

 

ตารางเปรียบเทียบ ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

1) สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
2) สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
4) สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนหรือภาพยนต์
5) สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ

2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2) สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
3) สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
4) สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
5) สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
6) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
9) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
10) สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
11) สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
12) กรมการศาสนา
13) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

   ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติให้มีภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาครัฐได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บางประการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แห่งชาติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร การประกอบกิจการภาพยนตร์ การนำภาพยนตร์ออกเผยแพร่ ระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และกำหนดประเภท เพื่อลดอำนาจการควบคุมจากภาครัฐ

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก

5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกอบกิจการวีดิทัศน์ซึ่งหมดความจำเป็นในปัจจุบัน

6. ท่านเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการภาพยนตร์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีสภาพปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

7. ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะอื่นๆ (ถ้ามี)