การเสนอร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ. .... เพื่อกำหนดให้มียุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาการผลิตลำไยอันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน และเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน รัฐบาลจะต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์การบริหารลำไยอย่างชัดเจน ซึ่งยุทธศาสตร์ลำไยนี้ให้ทำเป็นประกาศและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ลำไย โดยที่โครงสร้างยุทธศาสตร์ลำไยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) วิสัยทัศน์การตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
(2) เป้าหมายการพัฒนาลำไยในระยะยาว กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และกำหนดตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย
(3) ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ลำไยต้องคำนึงถึงแผนการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยให้ดำเนินการตามกระบวนการ ดังต่อไปนี้
(1) มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ
(2) วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้านทั้งในประเทศ และต่างประเทศ วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัด รวมทั้งความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อม ของเกษตรกรชาวสวนลำไย
(3) การให้เกษตรกรชาวสวนลำไยมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย การจัดทำยุทธศาสตร์ลำไย รวมทั้งการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ลำไยร่วมกัน
(4) มีการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาลำไยในระยะยาว ที่มีความชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพในอนาคตของการผลิตลำไย โดยเป็นกรอบอย่างกว้างที่ยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งมีการระบุตัวชี้วัดในการบรรลุเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน
ทั้งนี้ มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารลำไยเพื่อกำหนดแผนงานตามยุทธศาสตร์การบริหารลำไยให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดการกระทรวงพาณิชย์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งคัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับลำไย เป็นกรรมการ ผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจำนวนสามคน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
4. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
3. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
4. สมาคมชาวสวนลำไยภาคเหนือ
5. สมาคมชาวสวนลำไยลำพูน
6. สมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี
7. สมาคมผู้ปลูกลำไยจังหวัดสระแก้ว
ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ลำไยที่มีเป้าหมายในการพัฒนาการผลิตลำไยอันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน และร่วมกันกำหนดเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ลำไย รวมทั้งมีการระบุตัวชี้วัดในการบรรลุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารลำไยที่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ(ตามมาตรา 11) และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (ตามมาตรา 13)
3. ท่านเห็นว่าการบริหารจัดการผลผลิตลำไยในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติลำไย พ.ศ. .... จะแก้ปัญหาการผลิตลำไยของประเทศได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร
4. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)