เนื่องจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกปริมาณมหาศาล จากกิจกรรมการพัฒนาของมนุษย์ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงปี พ.ศ. 2293 - 2393 จนถึงปัจจุบัน
เป็นระยะเวลายาวนานกว่าศตวรรษ ส่งผลให้เกิดสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจากน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย และเกิดสภาพอากาศที่สุดขั้ว ได้แก่ คลื่นความร้อน ฝนตกรุนแรงและน้ำท่วมหนัก ภัยแล้งยืดเยื้อ และการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมใช้ของน้ำและการผลิตอาหาร สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เมือง การตั้งถิ่นฐาน และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านของการบรรเทาผลกระทบโดยการจำกัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ การเตรียมพร้อมรับปรับตัวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และการจัดการกับความสูญเสียและเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2535 (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC 1992) อันมีสถานะเป็นกฎหมายแม่ของพิธีสารเกียวโต พ.ศ. 2540 (Kyoto Protocol 1997)และข้อตกลงปารีส พ.ศ. 2558 (Paris Agreement 2015) ที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคี ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 โดยกำหนดให้ประเทศภาคีต้องจัดทำบัญชีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ( National Inventory Report) จัดเตรียม สื่อสาร และรักษาการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ที่ตั้งใจจะบรรลุอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC Roadmap) เพื่อดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการรายงานบัญชีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดและปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งดูดซับ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินมาตรการเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้น เพื่อทำให้ประเทศไทยมีกลไกการบังคับและส่งเสริมที่เข้มงวดเพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่กำหนดตามพันธกรณีระหว่างประเทศ แสดงถึงเจตนารมณ์และ
ความมุ่งมั่นในฐานะประชาคมโลก เพื่อการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ยกระดับความสามารถในการพร้อมรับปรับตัว ฟื้นตัว สร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศทั้งกับนิเวศและชุมชนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงการต่างประเทศ
2) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4) กระทรวงคมนาคม
5) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
6) กระทรวงพลังงาน
7) กระทรวงมหาดไทย
8) กระทรวงอุตสาหกรรม
9) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
10) สำนักงบประมาณ
11) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
12) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
13) สมาคมธนาคารไทย
14) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
15) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รวมถึงหน้าที่และอำนาจ หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับแนวทางการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย รวมถึงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือไม่ อย่างไร
3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการวางแผนและขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รวมถึงมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือไม่ อย่างไร
4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีข้อมูลก๊าซเรือนกระจก โดยประกอบด้วย บัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคล และการลดก๊าซเรือนกระจก หรือไม่ อย่างไร
5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีระบบภาษีคาร์บอน โดยประกอบด้วย ภาษีและค่าธรรมเนียมคาร์บอน การชำระภาษีและเบี้ยปรับ การลดหย่อนและยกเว้นภาษี การคืนภาษี การจัดการรายได้
และอุทธรณ์ หรือไม่ อย่างไร
6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยประกอบด้วย การกำกับดูแลระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกำหนดนิติบุคคลควบคุม การจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตรวจสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการเวนคืน เก็บ ยืม และหักกลบสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอุทธรณ์ หรือไม่ อย่างไร
7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคาร์บอนเครดิต รวมถึงกองทุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว
การปรับตัวและรับมือภัยพิบัติ โดยประกอบด้วย การจัดตั้ง รายได้และการใช้จ่ายเงินของกองทุน
และการบริหารจัดการกองทุน หรือไม่ อย่างไร
8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงบทกำหนดโทษ โดยประกอบด้วย โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง หรือไม่ อย่างไร
9. ท่านเห็นว่าการบริหารจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร
10. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)