โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับศาสนายังไม่ครอบคลุมการกระทำของบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาสนา เกิดการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือทำให้รู้สึกเกลียดชัง โดยกระทำการใด ๆ เช่น การบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของศาสนา การปลุกระดม การเผยแพร่เพื่อให้เกิดการเกลียดชัง การรบกวนการประกอบพิธีกรรม การวิพากษ์วิจารณ์โดยมิใช่ทางวิชาการ การทำลายหรือทำให้สกปรกซึ่งคัมภีร์หรือวัตถุที่เป็นที่สักการะของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองศาสนาทุกศาสนาตลอดจนประชาชนผู้นับถือศาสนาโดยเท่าเทียมกันอันเป็นไปเพื่อการคุ้มครองและป้องกันความเชื่อถือและศรัทธาของบุคคลดังกล่าว และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67ที่กำหนดให้รัฐต้องพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองศาสนาทุกศาสนา จึงเสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
1. กำหนดให้การกระทำใด ๆ อันเป็นการลบหลู่ ดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามต่อชื่อของพระเจ้า ศาสดาของศาสนา ภรรยาของศาสดา บรรดาสาวก ผู้นำศาสนา คำสอน ความศรัทธา ปรัชญาการใช้ชีวิต หรือความรู้สึกของผู้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง รวมถึงการโฆษณาการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/1)
2. กำหนดให้การกระทำการปลุกระดมผู้คนให้หลงเชื่อในข้อความอันเป็นเท็จโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/2)
3. กำหนดให้การกระทำการเผยแพร่ จำหน่าย จ่าย แจก หรือซื้อขายซึ่งวัสดุหรือสิ่งพิมพ์ที่บิดเบือนหลักการหรือคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายแก่ศาสนานั้นเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/3)
4. กำหนดให้การกระทำการบิดเบือน เปลี่ยนแปลงความหมาย หรือแปลความอย่างคลาดเคลื่อนในเนื้อหาของพระธรรม คัมภีร์ หรือคำสอน เพื่อให้เกิดการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม เสื่อมเสีย หรือเสียหายต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/4)
5. กำหนดให้การกระทำที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณะซึ่งเนื้อหาของพระธรรม คำสอนหรือหลักการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพื่อให้เกิดการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม รู้สึกเกลียดชัง เสื่อมเสีย หรือเสียหายต่อศาสนานั้นเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/5)
6. กำหนดให้การกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวน หรือขัดขวางการสักการะการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/6)
7. กำหนดให้การกระทำที่เป็นการทำลาย ทำให้สกปรก หรือกระทำการใด ๆ ต่อคัมภีร์หรือสิ่งสักการะของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อศาสนานั้นเป็นความผิด (เพิ่มเติมมาตรา 206/7)
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
กรมการศาสนา
2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.2 สำนักงานอัยการสูงสุด
2.3 สำนักงานศาลยุติธรรม
2.4 สภาทนายความแห่งประเทศไทย
2.5 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
2.6 องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
2.7 พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
2.8 ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
2.9 เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย
2.10 สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (สสท.)
2.11 สภาคริสตจักรในประเทศไทย
2.12 สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
2.13 มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย
2.14 สำนักจุฬาราชมนตรี
2.15 สำนักพราหมณ์พระราชครู ในสำนักพระราชวัง
2.16 สมาคมฮินดูสมาช
2.17 สมาคมฮินดูธรรมสภา
2.18 สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา
2.19 สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย
3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการเพิ่มบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการลบหลู่ ดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามต่อชื่อของพระเจ้า ศาสดาของศาสนา ภรรยาของศาสดา บรรดาสาวก ผู้นำศาสนา คำสอน ความศรัทธา ปรัชญาการใช้ชีวิต หรือความรู้สึก การโฆษณา การปลุกระดมผู้คนให้หลงเชื่อในข้อความอันเป็นเท็จ การเผยแพร่ จำหน่าย จ่าย แจก หรือซื้อขายซึ่งวัสดุหรือสิ่งพิมพ์ที่บิดเบือนหลักการหรือคำสอน การบิดเบือน เปลี่ยนแปลงความหมาย หรือแปลความอย่างคลาดเคลื่อนในเนื้อหาของพระธรรม คัมภีร์ หรือคำสอน การวิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณะซึ่งเนื้อหาของพระธรรมคำสอนหรือหลักการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง การรบกวน หรือขัดขวางการสักการะการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนา การทำลาย ทำให้สกปรก หรือกระทำการใด ๆ ต่อคัมภีร์หรือสิ่งสักการะของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพื่อให้เกิดการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม รู้สึกเกลียดชัง เสื่อมเสีย หรือเสียหายต่อศาสนา เป็นความผิด (ร่างมาตรา 206/1 ร่างมาตรา 206/7)
2. ท่านเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับศาสนาในปัจจุบัน มีปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
3. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)