สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     โดยที่ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตลอดมา ผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองโดยบริสุทธิ์จำนวนมากถูกจับกุมและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติไม่เฉพาะแต่ทางการเมือง หากแต่มีผลกระทบถึงภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติ การกระทำต่าง ๆ ของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมหรือร่วมแสดงออกทางการเมือง แม้จะเป็นการกระทำความผิดโดยสภาพตามกฎหมายอาญา แต่ผู้กระทำผิดมิได้มีเจตนาชั่วร้ายหรือเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลผู้ที่ต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิดและต้องรับโทษอย่างรุนแรงพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายและปราศจากมลทินมัวหมอง เป็นการให้โอกาสกับประชาชนและสังคมไทยที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย รักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้สังคมไทยร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างเสริมสังคมสันติสุขและร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป ทั้งนี้ ความผิดที่จะได้นิรโทษกรรม คือ ความผิดสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ในระหว่าง พ.ศ. 2548 – 2565 ในฐานความผิด ดังต่อไปนี้

     1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

          (1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 (3) หรือ (2) มาตรา 114 (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมทบกันเพื่อเป็นกบฏ) มาตรา 116 และมาตรา 117

          (2) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 (2) หรือ (3) มาตรา 135/2 และมาตรา 135/3

          (3) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 มาตรา 138 และมาตรา 139

          (4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 209 มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 มาตรา 215 และมาตรา 216

          (5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา 217 ถึงมาตรา 220 มาตรา 225 และมาตรา 226

          (6) ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา 295 มาตรา 299 และมาตรา 300

          (7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 310 วรรคหนึ่ง มาตรา 310 ทวิ และมาตรา 311 วรรคหนึ่ง

          (8) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และมาตรา 359 (3)

          (9) ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3)

     2. ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และมาตรา 31

     3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

     4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

     5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

     6. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม

     7. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง

     8. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

     9. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

     10. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก

     11. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

     12. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 สำนักงานศาลปกครอง

     2.2 สำนักงานศาลยุติธรรม

     2.3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

     2.4 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

     2.5 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

     2.6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     2.7 สำนักงานอัยการสูงสุด

     2.8 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     2.9 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

     2.10 กรมราชทัณฑ์

     2.11 กรมบังคับคดี

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่มีสาเหตุมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง โดยให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดอาญาและไม่ต้องรับโทษทางอาญา รวมทั้งพ้นจากความรับผิดทางแพ่งต่อหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจทั้งปวง เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

     2. หากท่านเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามข้อ 1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับขอบเขตของการนิรโทษกรรม โดยระยะเวลาต้องเป็นการกระทำความผิดระหว่าง พ.ศ. 2548 – 2565 และฐานความผิดให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัตินี้

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้ผู้เสียหายทางแพ่งที่มิใช่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำความผิดที่จะได้นิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มี “คณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข” เป็นผู้วินิจฉัยการพ้นจากความรับผิด และเห็นด้วยหรือไม่กับองค์ประกอบของคณะกรรมการข้างต้น และหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนี้

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับกำหนดระยะเวลาการพิจารณาของคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งต้องทำคำวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ แต่หากกรณีมีเหตุจำเป็น อาจขยายระยะเวลาไปได้อีกรวมไม่เกิน 60 วัน

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้ผู้ที่ประสงค์จะโต้แย้งกฎ คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการกระทำใด ๆ ของคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ และกรมบังคับคดี ดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เมื่อคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุขได้วินิจฉัยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งพ้นจากความรับผิดแล้ว

     8. ท่านเห็นว่าการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เพียงใด

     9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)