สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     โดยที่การกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2562 ทำให้การจัดที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการทำได้ยากและล่าช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลดังกล่าว จึงควรยกเลิกมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2562 โดยการยกเลิก (10) ของมาตรา 7 ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะสามารถจัดทำโครงการเกี่ยวกับที่พักอาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการได้เอง โดยไม่ต้องรอให้มีเอกชนร่วมลงทุนในโครงการ อันส่งผลทำให้หน่วยงานรัฐจัดทำโครงการพื้นฐานได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และประชาชนย่อมสามารถเข้าถึงโครงการพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

     1.2 คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

     1.3 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

     2.2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

     2.3 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

​​​​​​​     2.4 กรมกิจการผู้สูงอายุ

​​​​​​​     2.5 การเคหะแห่งชาติ

3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

​​​​​​​     ​​​​​​​ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการสามารถจัดทำโครงการในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเกี่ยวกับที่พักอาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการได้เอง โดยไม่ต้องมีเอกชนร่วมลงทุน

     2. ท่านมีความคิดเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำโครงการในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะสามารถจัดทำโครงการเกี่ยวกับที่พักอาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีสภาพปัญหาอย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

     3. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)