สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำการยึดอำนาจล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยพร้อมทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และได้ออกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งขาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน โดยอ้างความจำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์และความสงบเรียบร้อยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง โดยสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัด ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมหรือสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นอิสระ สิทธิในร่าง กายและเสรีภาพในการเดินทางที่ถูกจำกัดด้วยการเรียกไปรายงานตัว การกักตัว และให้ทำข้อตกลงที่จะงดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้ง สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิชุมนุมที่จะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของรัฐ และสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และประเทศกำลังกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่บรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้ตั้งแต่ช่วงเวลาของการยึดอำนาจก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ทั้งในเวลาต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกจำนวนมาก ซึ่งบางฉบับมีเนื้อหาในทางจำกัดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองไว้ ประกาศและคำสั่งเหล่านี้จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

          เพื่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ดีและสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรที่จะยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิชุมชนของประชาชนและให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองและถูกจำกัดเพียงเท่าที่จำเป็นตามกฎหมายในสถานการณ์ปกติ จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

3. สำนักงานศาลยุติธรรม

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

2. กรมพระธรรมนูญ

3. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

- ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามที่ระบุในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีการจำหน่ายคดีตามความผิดตามประกาศและคำสั่งในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมด ให้ถือว่าจำเลยที่เคยต้องคำพิพากษานั้นไม่มีความผิด และให้ปล่อยจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก ยกเว้นจำเลยที่ถูกคุมขังตามกฎหมายอื่นที่ไม่ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้บุคคลพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหารซึ่งมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว สามารถยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจภายในสามสิบวันนับจากวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีของตนใหม่ หากไม่ยื่นให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลทหารเป็นที่สุด

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้โอนย้ายคดีบุคคลพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร มาอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจ โดยให้กระบวนการพิจารณาคดีภายใต้ศาลทหารที่ได้ทำไปแล้วไม่เสียไป เว้นแต่จำเลยจะร้องขอให้ศาลยุติธรรมเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งหมด

5. ที่ผ่านมากระบวนการดำเนินคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เพียงใด

6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)