สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอเพื่อให้มีกฎหมายบริหารจัดการขยะและสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในการจัดการขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยการจัดการขยะเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน เนื่องด้วยความล้าหลังของโครงสร้างการจัดการขยะของประเทศไทย และการที่มีหน่วยงานหลายหน่วยงานจัดการขยะ ทำให้ขาดการบูรณาการในด้านการบริหารจัดการขยะ ซึ่งส่งผลถึงการรวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญในการนำไปกำหนดนโยบายด้านการจัดการขยะของชาติ ส่งผลให้ประเทศมีพื้นที่รับจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง เช่น บ่อเทกองซึ่งปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและประชาชนมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่มีมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่สนับสนุนการเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในการจัดการขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง

     ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร แบ่งเป็น 9 หมวด 110 มาตรา โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

     1. กำหนดวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอและกำหนดนโยบาย ตลอดจนพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร

     2. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อทำหน้าที่กำกับการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร ออกระเบียบหรือประกาศ เสนอความเห็น ตรวจสอบการประกอบกิจการ ออกคำสั่งและกำหนดค่าปรับทางปกครอง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนด้านการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ และกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการขยะและหมุนเวียนทรัพยากร เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดังกล่าว

     3. กำหนดให้มีการบริหารจัดการขยะ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การบริหารจัดการขยะ โดยกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการบริหารจัดการขยะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ 2) หน้าที่ของผู้ก่อให้เกิดขยะ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากรมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงกำหนดหน้าที่ของผู้ก่อให้เกิดขยะ และกำหนดให้ผู้ก่อให้เกิดขยะจะต้องให้ความสำคัญต่อการนำกลับมาใช้ใหม่มากกว่าการกำจัด ยกเว้นกรณีที่นำกลับไปใช้ใหม่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยสูงกว่าการกำจัด และกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านพักอาศัย อาคารชุด ร้านค้า ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานประกอบการ โรงงาน สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล หรือสถานที่ใด ๆ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับขยะที่เกิดขึ้น และห้ามมิให้ผู้ใดนำขยะเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อกำจัดหรือทิ้งไว้ในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ 3) การรวบรวมและการขนส่งขยะ โดยกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4) การกำกับดูแลการประกอบกิจการขยะ โดยกำหนดให้การประกอบกิจการขยะไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย

     4. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากการบริหารจัดการขยะ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนในการบำบัดฟื้นฟูและลดผลกระทบต่อดินและน้ำใต้ดิน อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการขยะในแต่ละประเภท

     5. กำหนดให้มีการหมุนเวียนทรัพยากร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) การจัดการทรัพยากร โดยให้คณะกรรมการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากรมีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบในการคัดเลือกซากผลิตภัณฑ์ใด ๆ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ลักษณะใดที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องมีสลากสินค้าหรือคำอธิบาย ระงับหรือควบคุมปริมาณการใช้วัตถุดิบบางชนิดในการผลิต กำหนดห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นปัญหา และกำหนดเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ติดป้ายแสดงมลพิษหรืออัตราการรีไซเคิลที่ผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการซากผลิตภัณฑ์และส่งคืนซากผลิตภัณฑ์ตามระบบการรับคืนซากผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตจัดทําขึ้น และ 2) มาตรการเพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากร โดยให้กลุ่มผู้ผลิตเสนอมาตรการในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรได้

     6. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือสถานประกอบกิจการขยะ สถานเก็บรวบรวม ขนส่ง และถอดแยกซากผลิตภัณฑ์ของผู้รับใบอนุญาตในเวลาทำการของสถานที่นั้น มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานต่อคณะกรรมการในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตได้ กระทำผิดหรือทำให้เกิดความเสียหาย และเข้าไปดําเนินการในที่ดินหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นตามที่กําหนด โดยการอนุมัติของคณะกรรมการ และกําหนดให้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจําเป็นเพื่อป้องกันประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน คณะกรรมการอาจมอบหมาย หรือสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการประกอบกิจการขยะหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าครอบครองหรือใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ของผู้รับใบอนุญาตเพื่อดําเนินการหรือสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหรือพนักงานของผู้รับใบอนุญาตกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดได้จนกว่าเหตุฉุกเฉินหรือจําเป็นนั้นจะสิ้นสุดลง

     7. กำหนดให้ผู้ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนด มีสิทธิอุธรณ์ต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่สุด และในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนด คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ผลิตที่ได้รับความเห็นชอบกระทำการ งดเว้นกระทำการ แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ อีกทั้งกรณีผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ผลิตที่ได้รับความเห็นชอบ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามบทบัญญัติที่กำหนด และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือกรณีอุทธรณ์แต่คณะกรรมการมีมติไม่เห็นด้วยกับการอุทธรณ์ และคณะกรรมการได้มีหนังสือเตือนแล้วยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองในจำนวนไม่เกิน 100,000 บาทต่อวัน และกรณีไม่มีการชำระค่าปรับทางปกครอง ให้ดำเนินการบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

     8. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนด และกำหนดให้มีบทเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกหรือปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าได้กระทำความผิดใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างที่ยังรับโทษอยู่ หรือภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     1.3 กระทรวงมหาดไทย

     1.4 องค์การบริหารส่วนจังหวัด

     1.5 เทศบาล

     1.6 องค์การบริหารส่วนตำบล

     1.7 กรุงเทพมหานคร

     1.8 เมืองพัทยา

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

     2.2 กรมอนามัย

     2.3 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

     2.4 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

     2.5 กรมสรรพากร

     2.6 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

     2.7 กรมควบคุมมลพิษ

     2.8 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

     2.9 สถานประกอบการที่มีขยะติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นต้น

     2.10 โรงงานที่มีขยะอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการที่มีขยะอันตราย เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นต้น

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่การจัดเก็บ การรวบรวม การขนส่ง การนำกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะ รวมถึงส่งเสริมให้ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะการแยกขยะอันตรายและขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร และให้มีสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดังกล่าว

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดหน้าที่ของผู้ก่อให้เกิดขยะ และกำหนดให้ผู้ก่อให้เกิดขยะจะต้องให้ความสำคัญต่อการนำกลับมาใช้ใหม่มากกว่าการกำจัด และห้ามมิให้ผู้ใดนำขยะเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อกำจัดหรือทิ้งไว้ในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้การประกอบกิจการขยะไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากการบริหารจัดการขยะ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนในการบำบัดฟื้นฟูและลดผลกระทบต่อดินและน้ำใต้ดิน อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการขยะในแต่ละประเภท

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกําหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ติดป้ายแสดงมลพิษหรืออัตราการรีไซเคิลที่ผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการซากผลิตภัณฑ์และส่งคืนซากผลิตภัณฑ์ตามระบบการรับคืนซากผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตจัดทําขึ้น รวมถึงกําหนดให้กลุ่มผู้ผลิตเสนอมาตรการในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรได้

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือสถานประกอบกิจการขยะ สถานเก็บรวบรวม ขนส่ง และถอดแยกซากผลิตภัณฑ์ของผู้รับใบอนุญาตในเวลาทำการของสถานที่นั้น มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดค่าปรับทางปกครองในจำนวนไม่เกิน 100,000 บาทต่อวัน โดยให้คำนึงถึงความร้ายแรงในการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งประกอบ

     9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนด และกำหนดให้เพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำความผิดซ้ำในระหว่างที่ยังรับโทษอยู่ หรือภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ

     10. ท่านเห็นว่าการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากรของประเทศไทยในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

     11. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)