สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อป้องกันและปราบปรามการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก และเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ได้รับการคุ้มครองและป้องกันจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงกำหนดให้การกระทำในลักษณะการครอบครอง การค้า การทำให้แพร่หลายซึ่งวัตถุหรือสิ่งลามกที่เป็นสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชน ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น

                   ประเด็นที่ 1 ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดเพิ่มบทบัญญัติที่มีการกระทำความผิด
นอกราชอาณาจักรจะต้องได้รับโทษในราชอาณาจักร สำหรับความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิด
ต่อเสรีภาพ ที่เพิ่มขึ้นบางฐานความผิด ดังนี้ต่อไปนี้

                   ความผิดเกี่ยวกับเพศ

                   1 ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก (ตามมาตรา 277 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   2. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย (ตามมาตรา 277 ทวิ ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                       ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ความผิดฐานโทรมเด็กโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุ (ตามมาตรา 277 ตรี ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   3. ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก ตามมาตรา 278 มาตรา 279 ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย (ตามมาตรา 280 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   4. ความผิดฐานเพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่น เพื่อการอนาจาร โดยการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก (ตามร่างมาตรา 5 ที่ให้เพิ่ม มาตรา 284/1 มาตรา 284/2 มาตรา 284/3 ในประมวลกฎหมายอาญา)

                   5. ความผิดฐานการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่กระทำต่อผู้สืบสันดาน ศิษย์ ผู้อยู่ในความปกครอง ความพิทักษ์ (ตามร่างมาตรา 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 285 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   6. ความผิดฐานการค้า จำหน่าย ซึ่งสิ่งลามก (ตามมาตรา 287 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   7. ความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก และความผิดฐานการค้า จำหน่าย
ซึ่งสื่อลามกเด็ก (ตามมาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   ความผิดต่อเสรีภาพ

                   1. ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด (ตามมาตรา 309 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   2. ความผิดฐานกระทำการอันเป็นการรบกวนสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้อื่น
(ร่างมาตรา 11 ที่ให้เพิ่มความเป็นมาตรา 309/1 มาตรา 309/2 มาตรา 309/3 มาตรา 309/4 และมาตรา 309/5 ในประมวลกฎหมายอาญา)

                   3. ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง (ตามมาตรา 310 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   4. ความผิดฐานเอาคนลงเป็นทาส (ตามมาตรา 312 มาตรา 312 ทวิ มาตรา 312 ตรี ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   5. ความผิดฐานเรียกค่าไถ่ (ตามมาตรา 313 มาตรา 314 มาตรา 315 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   6. ความผิดฐานพรากเด็ก ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ (ตามมาตรา 317 มาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน)

                   ประเด็นที่ 2 การกำหนดความผิดฐานกระทำการอันไม่เหมาะสมกับเด็กในลักษณะเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น

                   ร่างมาตรา 5 กำหนดให้เพิ่มมาตรา 284/1 และมาตรา 284/2 กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำการอันไม่เหมาะสมกับผู้เยาว์อายุไม่เกิน 18 ปี ในลักษณะเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น เพื่อการอนาจาร โดยมีการกระทำในลักษณะโน้มน้าว จูงใจ ล่อลวง หรือการกระทำในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หรือหากกระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี หรือการกระทำผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือหากการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หรือเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส หรือกระทำในลักษณะแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ผู้กระทำจะต้องรับโทษหนักขึ้น

                   ประเด็นที่ 3 การกำหนดความผิดฐานเพื่อการอนาจารหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศโดยการสื่อสารเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสม ผู้กระทำจะต้องรับโทษหนักขึ้น

                   ร่างมาตรา 5 กำหนดให้เพิ่มมาตรา 284/3 และมาตรา 284/4 กำหนดให้มีความผิดฐานเพื่อการอนาจารหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศโดยการสื่อสารเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสม ที่กระทำต่อบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี หรือหากกระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี หรือการกระทำผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือกระทำในลักษณะแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ผู้กระทำจะต้องรับโทษหนักขึ้น

                   ประเด็นที่ 4 การกำหนดความผิดฐาน black mail ด้วยเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางเพศของผู้ถูกข่มขู่ เพื่อการอนาจารหรือแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ

                   ร่างมาตรา 5 กำหนดให้เพิ่มมาตรา 284/6 กำหนดความผิดในลักษณะการ black mail ด้วยเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางเพศของผู้ถูกข่มขู่ รวมไปถึงบุคคลของผู้ถูกข่มขู่ เพื่อให้ผู้กระทำหรือแสวงหาประโยชน์ในทางเพศหรือเพื่อการอนาจาร จนผู้ถูกข่มขู่จำยอมต้องกระทำการหรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการไม่สมควรทางเพศ

                   ประเด็นที่ 5 การกำหนดเพิ่มฐานความผิดที่ห้ามมิให้ผู้กระทำความผิดอ้างความไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 13 ปี ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศบางฐานความผิด ขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ไม่ต้องรับผิด

                   ร่างมาตรา 6 กำหนดให้เพิ่มมาตรา 258/1 กำหนดมิให้ผู้กระทำความผิดอ้างความไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ไม่ต้องรับผิด ในความผิดฐานดังต่อไปนี้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก ตามมาตรา 277 ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก ตามมาตรา 279 ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารเด็ก ตามมาตรา 282 วรรคสาม ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารเด็กโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 283 วรรคสาม ความผิดฐานพาเด็กไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ ของประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน
และความผิดฐานกระทำการอันไม่เหมาะสมกับเด็กในลักษณะเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น ตามร่างมาตรา 5 ที่กำหนดเพิ่ม มาตรา 284/1 มาตรา 284/2 และมาตรา 284/3

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

                   1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

                       1.1 สำนักงานศาลยุติธรรม

                       1.2 สำนักงานอัยการสูงสุด

                       1.3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                   2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

                       2.1 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

                       2.2 กรมกิจการเด็กและเยาวชน

                       2.3 ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาจากสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์

                            ประกอบด้วย

                            (1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                            (2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

                            (3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                            (4) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

                            (5) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

                            (6) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                            (7) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

                   3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

                       ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

                   1 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการเพิ่มบทบัญญัติที่มีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจะต้องได้รับโทษในราชอาณาจักร สำหรับความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพ ที่เพิ่มขึ้นบางฐานความผิด

                   2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดความผิดฐานกระทำการอันไม่เหมาะสมกับเด็กในลักษณะเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น

                   3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดความผิดฐานเพื่อการอนาจารหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศโดยการสื่อสารเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสม

                   4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดความผิดฐาน black mail ด้วยเรื่องที่
ไม่เหมาะสมทางเพศของผู้ถูกข่มขู่ เพื่อการอนาจารหรือแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ

                   5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดเพิ่มฐานความผิดที่ห้ามมิให้ผู้กระทำความผิดอ้างความไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 13 ปี ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำในความผิดเกี่ยวกับเพศบางฐานความผิด ขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ไม่ต้องรับผิด

                   6. ท่านเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
และความผิดต่อเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร

                   7. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ