สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,856 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560

     โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 48 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และปัจจุบันผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพและความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากรัฐในรูปของการสงเคราะห์แต่ยังไม่เพียงพอต่อค่าช้าจ่ายขั้นต่ำเพื่อการยังชีพเพราะจำนวนเงินช่วยเหลือดังกล่าวยังต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนอย่างมาก สมควรสร้างกลไกที่จะเป็นเครื่องมือในการประกันรายได้ขั้นต่ำอันเพียงพอแก่การยังชีพของผู้สูงอายุ โดยการวางระบบบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการความชช่วยเหลือผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้จำนวนสามพันบาทต่อเดือนต่อคน อันเป็นจำนวนที่เหมาะสมตามเส้นแบ่งความยากจนที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศ และความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อันเป็นสิทธิพึงมีของผู้สูงอายุ และเป็นการสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้  

     สาระสำคัญโดยสรุป : กำหนดคำนิยาม “ผู้สูงอายุ” “บำนาญแห่งชาติ” “กองทุน” “คณะกรรมการ” และ “รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ” และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัติ กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ที่เพียงพอให้แก่ผู้สูงอายุ การให้รัฐต้องให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งต้องให้ความคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สิทธิผู้สูงอายุในการได้รับบำนาญแห่งชาติและความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐ โดยกำหนดให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญจำนวนสามพันบาทต่อเดือนต่อคน การได้รับเบี้ยความพิการหรือบำนาญชราภาพสามารถรับบำนาญแห่งชาติอีกได้ การยกเลิกสิทธิการได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นเพื่อรับบำนาญแห่งชาติจำนวนเงินตามกฎหมายอื่นจะถูกโอนมาเป็นของกองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายนี้ และการปรับอัตราบำนาญแห่งชาติควรพิจารณาเพื่อปรับปรุงทุกสามปี กำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุ รายได้ เงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาเป็นของกองทุนตามกฎหมายนี้ กำหนดโทษปรับหากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตไม่ส่งเงินบำรุงเข้ากองทุนหรือส่งไม่ครบ และให้ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนหรือผู้อุปการะผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษี กำหนดให้มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ การให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน และหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 กระทรวงการคลัง

     1.2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 กระทรวงมหาดไทย

     2.2 กระทรวงสาธารณสุข

     2.3 กรุงเทพมหานคร

     2.4 สำนักงบประมาณ

     2.5 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

     2.6 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

     2.7 สภากาชาดไทย

     2.8 กองทุนประกันสังคม

     2.9 กองทุนการออมแห่งชาติ

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดคำนิยาม “ผู้สูงอายุ” “บำนาญแห่งชาติ” “กองทุน” “คณะกรรมการ” และ “รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ” และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัติ

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับการให้รัฐต้องจัดให้มีบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ที่เพียงพอให้แก่ผู้สูงอายุ การให้รัฐต้องให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งต้องให้ความคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุในการได้รับบำนาญแห่งชาติและความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐ การให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญจำนวนสามพันบาทต่อเดือนต่อคน การได้รับเบี้ยความพิการหรือบำนาญชราภาพสามารถรับบำนาญแห่งชาติอีกได้ การยกเลิกสิทธิการได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นเพื่อรับบำนาญแห่งชาติจำนวนเงินตามกฎหมายอื่นจะถูกโอนมาเป็นของกองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายนี้ และการปรับอัตราบำนาญแห่งชาติควรพิจารณาเพื่อปรับปรุงทุกสามปี

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับกองทุนผู้สูงอายุ การให้กองทุนผู้สูงอายุ รายได้ เงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาเป็นของกองทุนตามกฎหมายนี้ การกำหนดโทษปรับหากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตไม่ส่งเงินบำรุงเข้ากองทุนหรือส่งไม่ครบ และการให้ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนหรือผู้อุปการะผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษี

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมและการบริหาร การให้มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ การให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน และหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน

     6. ท่านเห็นว่ากฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ เพียงใด และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

     7. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)