ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พ.ศ. .... เสนอเพื่อให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจหรือกิจการลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ และสมาชิกของวงแชร์ ต้องจัดหาหรือชักชวนบุคลอื่น ๆ ให้มาร่วมลงทุนเป็นสมาชิกวงแชร์ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยให้สมาชิกใหม่ส่งเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองแชร์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกเก่า และเพื่อป้องกันประชาชนในฐานะผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจของประเทศ และกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับกรณีดังกล่าวไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเพียงพอ
ในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายเพื่อป้องกันและปราบปราม
ต่อคณะรัฐมนตรี ติดตาม ประเมินผล แนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานเกี่ยวกับป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่
กำหนดให้มีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการและฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ รวมถึงหน้าที่ในการกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย การรับแจ้งรับเรื่องร้องเรียนกรณีการกระทำอันมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ บริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าความเสียหายของเหยื่อแต่ละราย
ด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ได้กำหนดลักษณะการกระทที่เป็นแชร์ลูกโซ่ การกำหนดบทสันนิษฐานว่าหากดำเนินการในลักษณะที่มีการชักชวนโดยการหลอกลวงบุคคลอื่นไปลงทุนและอ้างผลตอบแทนในอัตราสูง การนำเงินจากสมาชิกใหม่มาจ่ายให้สมาชิกเก่า สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ และให้สิทธิกับประชาชนหากพบการกระทำลักษณะดังกล่าวสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานเพื่อตรวจสอบและดำเนินการป้องกันความเสียหาย รวมถึงการประกาศใประชาชนทราบเป็นการทั่วไปและอำนาจในเชิงปราบปราม เช่น การเข้าไปเคหสถานเพื่อตรวจค้น ยึด สิ่งของที่ใช้ในการกระทำความผิด ค้น จับกุมบุคคล
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี
1.2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
1.3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานอัยการสูงสุด
2.2 สำนักงานศาลยุติธรรม
2.3 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
2.4 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2.5 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจหรือกิจการลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายเพื่อป้องกันและปราบปรามต่อคณะรัฐมนตรี ติดตาม ประเมินผล แนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานเกี่ยวกับป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มี กองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าความเสียหายของเหยื่อแต่ละราย
6 ท่านคิดว่าการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร
7. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ