สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 42,445 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว เป็นวิกฤตโครงสร้างประชากรไทยที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนวัยแรงงานลดลง คาดว่าในปี 2580 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มถึง 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมดหรือ ประมาณ 19.8 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุยากจนถึง 1.19 ล้านคน การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงอายุกว่า 38% ต้องพึ่งพิงรายได้จากลูกหลาน รองลงมา 19% พึ่งเบี้ยยังชีพจากรัฐ ส่วนคนที่ได้รับบำนาญมีเพียง 8% โดยมีผู้สูงอายุ 36% สูญเสียรายได้จากการขาดอาชีพ ทำให้สัดส่วนการทำงานลดลงและต้องพึ่งเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นถึง 40% และมีเพียงข้าราชการเกษียณที่มีบำนาญจากงบประมาณรัฐ ส่วนลูกจ้างของสถานประกอบการมีบำนาญที่มาจากการสะสมร่วมกันของลูกจ้างและนายจ้างในระบบประกันสังคมไม่เพียงเท่านั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจผู้ทำงานในปี 2561 มีจำนวน 38.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบคือไม่มีหลักประกันสังคมใด ๆ 55% หรือจำนวน 21.2 ล้านคน ซึ่งคือคนทำงานที่มีการศึกษาไม่ในภาคการเกษตร คนเหล่านี้ย่อมไม่มีรายได้เพียงพอสะสมเพื่อไว้ใช้เป็นบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ทำให้ประเทศไทยเผชิญปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีบำนาญเป็นหลักประกันรายได้รายเดือนที่เพียงพอ การแก้ปัญหาโดยการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนให้ผู้สูงอายุเป็นเพียงการประทังปัญหาเมื่อปลายเหตุและเป็นการแก้ปัญหาเชิงสงเคราะห์ ในขณะที่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิทธิของผู้สูงอายุที่รัฐต้องรับรองสิทธิและพึงจัดการให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการคุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุในเรื่องต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในหมวด ๆ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 48 วรรคสอง บัญญัติรองรับสิทธิของบุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 71 ได้บัญญัติให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ของกรรมการนโยบายกองทุนบำนาญ การเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้สูงอายุจากสิทธิที่ได้รับเบี้ยยังชีพเป็นสิทธิได้รับบำนาญฟื้นฐานแห่งชาติถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ จ่ายเป็นรายเดือนอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงชีวิตของผู้สูงอายุที่ไม่น้อยกว่าระดับรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลได้มีนโยบายและมาตรการในการจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ต่ำกว่าระดับรายได้ตามเส้นความยากจนซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพได้ และเนื่องจากกองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนจ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม การสนับสนุนและการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการจัดระบบการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติอย่างถ้วนหน้า จึงสมควรเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้ที่เพียงพอแก่การดำเนินชีวิตตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และให้พิจารณาอัตราการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติแก่ผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไปทุกคนตามเส้นความยากจนของประเทศในทุก ๆ สามปี และบทบัญญัติว่าด้วยการมีกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ รวมทั้งกำหนดที่มาของเงินเข้ากองทุนบำนาญให้มีรายได้จากเงินบำรุงตามกฎหมายต่าง ๆ  รวมทั้งมีรายได้อื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

     ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

     1) ซื่อกฎหมาย เปลี่ยนชื่อเป็น "พระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …." (มาตรา 1 และมาตรา 3)

     2) กำหนดนิยามศัพท์ "ผู้สูงอายุ" "กองทุนบำนาญ" "คณะกรรมการนโยบาย" และ"สำนักงาน" (มาตรา 4)

     3) กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นหนึ่งชุดชื่อ "คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ" ประกอบไปด้วยหน่วยราชการ เอกชนและภาคประซาชน ผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อกำหนดนโยบายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงผู้เสียภาษีให้รัฐทั้งทางตรงทางอ้อม (มาตรา 4)

     4) กำหนดให้ "คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ" มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรม ยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจและสังคม กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ จัดทำบัญชีรายชื่อ รวมทั้งการบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (มาตรา 7)

     5) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าและดำเนินการจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้สูงอายุที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปเพื่อรับบำนาญฟื้นฐานแห่งชาติ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติกำหนดในระเบียบ และให้หมายความรวมถึงการได้รับมอบหมายจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติในกรณีไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีสิทธิด้วย รวมทั้งกำหนดให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดทำงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายบำนาญพื้นฐาน (มาตรา 8)

     6) แก้ไขข้อความใน (3) ของมาตรา 9 และ (12) ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ดังนี้ "(3) พิจารณาให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ และการพัฒนาผู้สูงอายุ" และ "(12) การจัดสวัสดิการในการจัดการศพตามประเพณี" ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดให้กฎหมายมีถ้อยความที่ส่งเสริมคุณค่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยการยกเลิกคำว่า "สงเคราะห์" ที่มีความหมายในเชิงลบและอาจด้อยค่าศักดิ์ศรีของผู้รับ ให้เป็นคำว่า "การจัดสวัสดิการ" แทน (มาตรา 6 และมาตรา 10)

     7) ยกเลิกความใน (11) ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 เป็น "(11) การจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเป็นรายเดือนเพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นขอบ ทั้งนี้ ควรมีอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีก่อนจ่ายด้วย และให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงอัตราการจ่ายทุกสามปี" เพื่อกำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานแห่งชาติสำหรับทุกคนเมื่ออายุหกสิบปี ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ โดยให้อ้างอิงจากประกาศเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ สามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายจากงบประมาณให้กับผู้สูงอายุทุกคนมาเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติตามกฎหมายนี้ (มาตรา 9)

     8) กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นอยู่ภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรียกว่า "กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ" มีวัตถุประสงค์เฉพาะให้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยมีการบริหารจัดการกองทุนที่แยกต่างหากจาก"กองทุนผู้สูงอายุ" ตามกฎหมายผู้สูงอายุเดิม โดยจัดตั้งสำนักงานขึ้นภายในกรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานมีอำนาจหน้าที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ การจัดทำงบประมาณบำนาญพื้นฐานแห่งชาติรายปี บริหารจัดการระบบการจ่ายบำนาญ จัดทำรายงาน และงานธุรการอื่น ๆ รวมถึงกำหนดเกณฑ์สรรหาและระเบียบการเพิ่มผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กรณีที่คณะกรรมการมิได้กำหนดระเบียบ เกณฑ์ เงื่อนไข ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการมาใช้โดยอนุโลม (มาตรา 11)

     9) กำหนดแหล่งที่มารายได้ของกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เนื่องจากการจัดทำระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาติให้ครอบคลุมผู้สูงอายุหกสิบปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้าที่เพียงพอ โดยใช้อัตราเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มจากการจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพตามกฎหมายผู้สูงอายุเดิม เพื่อให้กองทุนบำนาญมีความยั่งยืนและมีรายได้ต่อเนื่องจึงได้กำหนดให้เพิ่มที่มาของรายได้เพื่อสมทบเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยกำหนดแหล่งที่มาของรายได้จากหน่วยงานจัดเก็บของรัฐตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ อัตราการเรียกเก็บจากหน่วยจัดเก็บ รวมทั้งกำหนดบทลงโทษ กรณีที่การจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติล่าช้า (มาตรา 12 และมาตรา 13)

     10) แก้ไขเพิ่มเติมกรณีผู้บริจาคเงินเข้ากองทุนและกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ให้มีสิทธินำเงินบริจาคไปคำนวณลดหย่อนภาษีเงิน่ได้ หรือได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินที่บริจาค รวมทั้งกำหนดการแสดงแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีต่อกรมสรรพากร (มาตรา 14)

     11) กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุเป็นรองประธานผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้แทนองค์กรของผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งคน ผู้เชี่ยวชาญด้านระดมทุนหนึ่งคน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยใช้กฎ ระเบียบเกณฑ์ การดำรงตำแหน่ง การแต่งตั้งกรรมการเพิ่ม การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมและการแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือกรรมการบริหารตามบทบัญญัติตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 8 มาใช้ในกฎหมายนี้ (มาตรา 16 และมาตรา 17)

     12) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ประกอบด้วยการพิจารณากลั่นกรองแผนโครงการ ประมาณการวงเงินของกองทุนบำนาญ การลงทุน จัดหาผลประโยชน์และรายได้แก่กองทุนบำนาญ โดยการนำเงินกองทุนบำนาญบางส่วนไปลงทุนเพื่อจัดหาผลประโยชน์และรายได้แก่กองทุน ทั้งการลงทุนเองหรือมอบหมายให้สถาบันทางการเงินหรือนิติบุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไซที่กรรมการกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ให้คณะกรรมการกำหนดการใช้เกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุม และค่าตอบแทนอื่นตามความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (มาตรา 18)

     13) ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงดังกล่าว (มาตรา 24)

     14) กำหนดให้ระยะเริ่มแรกในการดำเนินการของกฎหมายนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับอัตราการรับบำนาญพื้นฐานแห่งชาติของผู้สูงอายุให้เพิ่มขึ้น โดยให้มีอัตราที่ใกล้เคียงกับเส้นแบ่งความยากจนตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสามปีนับจากวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 20 และมาตรา 21)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

     1) กระทรวงการคลัง

     2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     3) กระทรวงมหาดไทย

     4) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

     5) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

     6) กระทรวงพลังงาน

     7) กระทรวงคมนาคม

     8) กระทรวงอุตสาหกรรม

     9) กระทรวงแรงงาน

     10) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     2) กระทรวงสาธารณสุข

     3) กระทรวงศึกษาธิการ

     4) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจากเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญตามร่างมาตรา 3

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และกรณีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐตามกฎหมายอื่นมีสิทธิได้รับเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติด้วยตามร่างมาตรา 8 ประกอบมาตรา 9

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเพิ่มเติมแยกจากกองทุนผู้สูงอายุตามร่างมาตรา 11

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติโดยมีผู้แทนองค์กรเอกชนและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวตามร่างมาตรา 7

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีสำนักงานบำนาญพื้นฐานแห่งชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ รวมถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวตามร่างมาตราร่างมาตรา 11

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดที่มารายได้และการบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่มาจากเงินทุนประเดิมของรัฐบาล จากเงินงบประมาณประจำปี จากภาษีสรรพสามิตสุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง รถ หรือภาษีอื่นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของภาษีที่จัดเก็บ รวมถึงแหล่งที่มาของรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ตามร่างมาตรา 12 ประกอบมาตรา 13

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา มีอำนาจหน้าที่จัดทำทะเบียนรายชื่อผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีเพื่อรับบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ รวมถึงการกำหนดให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดทำงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติตามร่างมาตรา 8

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการปรับแก้ถ้อยคำ จากคำว่า "สงเคราะห์" ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นคำว่า "สวัสดิการ"

     9. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม มีข้อขัดข้องปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ อย่างไร

     10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)