โดยที่ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกลงสู่สังคมไทยทุกระดับ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและวัฒนธรรม แม้ว่าการกระทำต่าง ๆ ของผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ล้วนแต่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นการให้โอกาสกับประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้ง และสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ความผิดที่จะได้นิรโทษกรรม คือ ความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 – 30 พฤศจิกายน 2565 ในฐานความผิด ดังต่อไปนี้
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 (1) หรือ (2) มาตรา 114 (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมทบกันเพื่อเป็นกบฏ) มาตรา 116 และมาตรา 117
(2) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 (2) หรือ (3) มาตรา 135/2 และมาตรา 135/3
(3) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 มาตรา 138 และมาตรา 139
(4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 มาตรา 215 วรรคหนึ่ง และมาตรา 216
(5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา 217 ถึงมาตรา 220 มาตรา 225 และมาตรา 226
(6) ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา 295 มาตรา 299 และมาตรา 300
(7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 310 วรรคหนึ่ง มาตรา 310 ทวิ และมาตรา 311 วรรคหนึ่ง
(8) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และมาตรา 359 (3)
(9) ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3)
2. ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และมาตรา 31
3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม
6. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
7. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
8. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
9. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก
10. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
11. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
กระทรวงยุติธรรม
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.2 สำนักงานศาลยุติธรรม
2.3 สำนักงานอัยการสูงสุด
2.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.5 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
2.6 กรมราชทัณฑ์
2.7 มูลนิธิสิทธิอิสรา
2.8 สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
2.9 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
2.10 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
2.11 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่มีสาเหตุมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 – 30 พฤศจิกายน 2565 ตามฐานความผิดในบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัตินี้
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้ยกเว้นนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้ผู้เสียหายทางแพ่งยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดที่จะได้นิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ แต่ถ้าผู้เสียหายนั้นเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายทางแพ่งนั้นระงับลง
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มี "คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม" จำนวนไม่เกิน 7 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเห็นด้วยหรือไม่กับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาชี้ขาดว่าผู้กระทำความผิดใดอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับนิรโทษกรรม โดยคำชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการห้ามศาลรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษ ในคดีที่ผู้กระทำความผิดเคยได้รับนิรโทษกรรมในความผิดนั้นตามร่างพระราชบัญญัตินี้มาแล้ว
6. ท่านเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองหรือไม่ เหตุใดจึงนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง และการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เพียงใด
7. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)