ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเสนอกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศ โดยมีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” และแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานอนาจาร และกำหนดความผิดฐานคุกคามทางเพศเป็นความผิดฐานใหม่ ทั้งนี้ มีเหตุผลเนื่องจากในปัจจุบันมีการกระทำผิดทางเพศในหลายรูปแบบและเป็นการกระทำต่อบุคคลทุกวัย ทุกเพศ รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” เพื่อให้ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดในพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและเนื่องจากในปัจจุบันปัญหาการคุกคามทางเพศมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายที่มีการกำหนดให้การกระทำในลักษณะดังกล่าวมีความผิดนั้น มีเพียงความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญซึ่งเป็นความผิดฐานลหุโทษและยังไม่ตรงกับลักษณะของการกระทำที่เป็นการคุกคามทางเพศโดยตรง สมควรกำหนดให้การคุกคามทางเพศเป็นความผิดทางอาญา เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดและปรามมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) สำนักงานศาลยุติธรรม
2) สำนักงานอัยการสูงสุด
3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
5) กระทรวงสาธารณสุข
6) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงยุติธรรม
2) ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
2.1) มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี
2.2) มูลนิธิเพื่อนหญิง
2.3) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
2.4) มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน
2.5) สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “กระทำชำเรา” หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับการยกเลิกความผิดอันยอมความได้ กรณีกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลซึ่งเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส ที่มิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายตามร่างมาตรา 6 หรือไม่ อย่างไร
3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีความผิดฐานคุกคามทางเพศตามร่างมาตรา 7 หรือไม่ อย่างไร
4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานคุกคามทางเพศ กรณีกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งไม่ใช่ภรรยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามร่างมาตรา 7 หรือไม่ อย่างไร
5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานคุกคามทางเพศ กรณีอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ อันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ตามร่างมาตรา 7 หรือไม่ อย่างไร
6. ท่านเห็นว่าที่ผ่านมานิยามคำว่า “กระทำชำเรา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความหรือไม่ครอบคลุมความผิดในพฤติการณ์ต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร และการกระทำที่เป็นการคุกคามทางเพศซึ่งมิได้กำหนดเป็นฐานความผิดไว้อย่างชัดเจน มีปัญหาในการป้องปรามผู้กระทำผิด หรือไม่ อย่างไร รวมถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร
7. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)