พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังพบว่าในหลายกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชนที่ไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกันขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จนเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในทางกฎหมาย ดังนั้น เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรปรับปรุงบท บัญญัติดังกล่าวให้มีมาตรการที่เป็นธรรมในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม โดยมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีสาระสำคัญดังนี้
1. ให้นำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจากภยันตรายที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษ อันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่มหรือดำเนินการ โดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ระเบียบ และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 3 และมาตรา 4 )
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำหนดหลักเกณฑ์ในการชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากโครงการที่ขอรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้เป็นเงื่อนไขในการอนุญาตโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 ด้วย (ร่างมาตรา 5)
3. โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นโครงการที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยหรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชนอย่างรุนแรงนั้น ต้องมีการจัดทำประกันภัยความรับผิดในความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดด้วย (ร่างมาตรา 6)
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลด เอกสารประกอบ)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.3 กรมควบคุมมลพิษ
1.4 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
1.5 กรมบัญชีกลาง
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
2.2 องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
- สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดมาตรการให้นำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษ ที่มีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่มหรือดำเนินการ โดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ระเบียบ และวิธีการจ่ายเงินกองทุนเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษ ที่มีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่มหรือดำเนินการ โดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
3. ปัจจุบันการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม และการเยียวยาผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
4. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)