สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 ดังนี้

     (1) เพิ่มบทนิยามคำว่า "ผู้แทนเกษตรกรโคนม" (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3)

     (2) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

     (3) แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนการประชุมในแต่ละปี และรายละเอียดการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลติภัณฑ์นม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 วรรคหนึ่ง)

     (4) แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่แต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10) ดังนี้

          4.1 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนในการผลิตน้ำนมโคและกำหนดราคาซื้อน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่น้ำนมดิบ ศูนย์รวมนม โรงงานแปรรูป ซึ่งรวมถึงกระบวนการระหว่างทาง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพ วันรับซื้อและวันหยุดรับซื้อน้ำนมโคของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม

          4.2 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามพระราชบัญญัตินี้ และอาจเชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนหรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย ความเห็นหรือคำแนะนำ รวมทั้งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่แต่งตั้ง ต้องประกอบด้วยผู้แทนเกษตรกรโคนม ผู้แทนองค์กรเกษตรกรโคนม ผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมในจำนวนที่เท่ากัน

          4.3 จัดทำรายงานการประชุม รายงานผลการดำเนินงานประจำปีของคณะกรรมการและข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนและโครงสร้างราคานมและผลิตภัณฑ์นม โดยให้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการรับรอง

          4.4 เผยแพร่รายงานการประชุมและรายงานผลการดำเนินกางานของคณะอนุกรรมการ โดยให้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการเห็นชอบ

     โดยที่พระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 ที่ใช้บังคับอยู่ ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงสมควรให้มีการเพิ่มบทนิยาม แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้มีการเปิดเผยและเผยแพร่รายงานการประชุมและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมและคณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     2. กรมปศุสัตว์

     3. กรมส่งเสริมสหกรณ์

     4. กรมการค้าภายใน

     5. กรมการค้าต่างประเทศ

     6. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

     7. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

     8. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

     9. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

     10. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

     11. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

     12. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

     13. องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

     14. เกษตรกรโคนม

     15. องค์กรเกษตรกรโคนม

     16. ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม

     17. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม

     18. สภาองค์กรของผู้บริโภค

     19. ชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมแห่งประเทศไทย

     20. สมาคมอุตสาหกรรมอาหารนมไทย

     21. สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์

     22. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดบทนิยามคำว่า "ผู้แทนเกษตรกรโคนม" ตามร่างมาตรา 3

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ และแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยกำหนดให้มีจำนวน 14 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 12 คน โดยมีสัดส่วนจากผู้แทนเกษตรกรโคนม และผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภครวมทั้งกำหนดให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการฯ ตามร่างมาตรา 4

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้การประชุมคณะกรรมการต้องมีการนัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง โดยในการประชุมแต่ละครั้งต้องมีวาระการพิจารณาตามมาตรา 10 (1) (2) (3) และ (4) ตามร่างมาตรา 5

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจ ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนในการผลิตน้ำนมโคและกำหนดราคาซื้อน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่น้ำนมดิบ ศูนย์รวมนม โรงงานแปรรูปและกระบวนการระหว่างทาง กำหนดหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพ วันรับซื้อและวันหยุดรับซื้อน้ำนมโคของ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้แทนเกษตรกรโคนม ผู้แทนองค์กรเกษตรกรโคนม ผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และผู้แทนผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมนมในจำนวนที่เท่ากัน เพื่อดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจจัดทำรายงานการประชุม รายงานผลการดำเนินงานประจำปีของคณะกรรมการและข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนและโครงสร้างราคานมและผลิตภัณฑ์นม โดยให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนภายในระยะเวลา 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการรับรอง รวมถึงรายงานการประชุมและรายงานผลการดำเนินการงานของคณะอนุกรรมการด้วย

     5. ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

     6. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)