ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายคอซีย์ มามุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ฉบับนี้ เสนอแก้ไขเนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำช้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป จึงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศและเกิดประโยชน์สูงสุด การจัดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบและพิจารณาลงโทษและคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาพการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนกำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำผิด
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- กระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงคมนาคม
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กระทรวงพาณิชย์
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงแรงงาน
- กระทรวงอุตสาหกรรม
- สำนักงานศาลยุติธรรม
- กองทัพเรือ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- สำนักงานอัยการสูงสุด
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- สภาเกษตรกรแห่งชาติ
- สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
- สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
- ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไป
ประชาชน
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดคำนิยามของคำว่า “ประมงพื้นบ้าน” และ “ประมงพาณิชย์”
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติและคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือสามารถ
วางประกันสัตว์น้ำได้ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการประมง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดเงื่อนไขและข้อยกเว้นของการใช้เครื่องมือ
อวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้การกระทำความผิดนอกน่านน้ำไทยของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยเท่านั้น เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย ต่อเมื่อเรือประมงนั้นอยู่ในน่านน้ำไทย และได้รับแจ้งให้รัฐไทยดำเนินคดีกับเรือประมงนั้น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้เจ้าของเรือประมงไทยที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเมื่อต้องการนำเรือออกจากท่าเพื่อไปทำการประมงต้องติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือประมง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีการใช้มาตรการทางปกครองควบคู่กับ
การใช้โทษทางอาญา
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการรวมกฎหมายเกี่ยวกับบริหารจัดการการประมงไว้ในฉบับเดียวกัน ทั้งการทำการประมงในน่านน้ำไทย การทำการประมงนอกน่านน้ำไทย การประมงน้ำจืด การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูป และการตรวจสอบ
- ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
- ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)