สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันมีที่ดินที่เจ้าของที่ดินทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า โดยประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินโดยสงบเปิดเผยโดยเจ้าของที่ดินมิได้หวงกัน เพื่อประโยชน์ในการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ต่อประชาชน จึงควรกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ มีอำนาจเข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไปจะได้ใช้สอยร่วมกัน

     โดยให้เพิ่มความเป็นมาตรา 6/1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนี้ "ที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หากเป็นที่ดินซึ่งประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยสงบเปิดเผยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปีติดต่อกัน โดยผู้มีสิทธิในที่ดินมิได้หวงกัน เมื่อประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินร้องขอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินตั้งอยู่ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นเอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกันเป็นการชั่วคราว โดยไม่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน"

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กรมที่ดิน

     2. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

     3. กรุงเทพมหานคร

     4. เมืองพัทยา

     5. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

     6. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

     7. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินโดยสงบเปิดเผยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปีติดต่อกัน และเจ้าของที่ดินนั้นมิได้หวงกัน สมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปได้ใช้สอยร่วมกันเป็นการชั่วคราว โดยไม่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน 

     2. ท่านเห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ และการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร

     3. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)