โดยที่สถานการณ์ฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุก ๆ ชีวิตซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่าสิบปีอย่างต่อเนื่อง และจากการติดตามศึกษาติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของสถานบันวิจัยต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มของสถานการณ์มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น มีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กว้างขวางขึ้นซึ่งส่งผลอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี ประชาชนที่ตกอยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเป็นพิษต่างได้รับผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายและตกอยู่ในภาวะอันตรายทั้งในทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีที่มีครรภ์ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาลความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการของภาครัฐเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและการจัดการมลพิษ
สถานการณ์ฝุ่นควันอันเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากมีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งจากระบบการขนส่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม เขตพื้นที่ก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง การเผาตอซังของเกษตรกร การเผาพื้นที่ป่าแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ในต่างประเทศด้วย
จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่ประเทศไทยกำลังประสบเป็นสาธารณภัย และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การมีอากาศที่สะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และในขณะเดียวกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ก็ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องดำเนินการเพื่อให้สมดังสิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อประชาชน
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. .... แบ่งออกเป็น 9 หมวด จำนวน 57 มาตรา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป
1. กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้มีอากาศสะอาดเพื่อประชาชนอย่างจริงจังและยอมรับรู้ว่าอากาศสะอาดเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยรัฐจะต้องดำเนินการ เช่น จัดให้มีนโยบายระดับชาติ จัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดตามมาตรฐานสากลและเสนอให้มีกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว เป็นต้น (ร่างมาตรา 6)
2. กำหนดให้สิทธิของบุคคลในการได้รับอากาศสะอาด ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 7)
3. กำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะรวมตัวเป็นองค์กรกลุ่ม คณะบุคคล หรือเป็นชุมชนและใช้สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ ทั้งการกำหนดนโยบาย การจัดทำแผน การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การควบคุมกำกับ และการติดตามผล (ร่างมาตรา 8)
หมวด 2 การบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการอากาศสะอาด" ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 11)
2. กำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาด มีหน้าที่และอำนาจ เช่น เสนอนโยบายและแผนเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีโครงการสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล การเฝ้าระวัง การประมวลผล การเตือนภัย และโครงข่ายระบบข้อมูลสารสนเทศ เป็นต้น (ร่างมาตรา 12)
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการแทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัด (ร่างมาตรา 21)
หมวด 3 มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด
1. กำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดในชั้นบรรยากาศโดยทั่วไปตามมาตรฐานสากล (ร่างมาตรา 25)
หมวด 4 ระบบการตรวจคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ
1. กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติ (ร่างมาตรา 26)
2. กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ (Air shed) ที่อยู่ในระดับวิกฤติจากแหล่งมลพิษที่เกิดขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) (ร่างมาตรา 29)
หมวด 5 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ
1. กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำรายงานสถานการณ์ประจำปีของสถานะคุณภาพอากาศเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การบูรณาการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ (ร่างมาตรา 30)
2. ให้ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศเป็นแนวทางปฏิบัติ การกำกับทิศทาง และการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบการจัดการสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน (ร่างมาตรา 31)
หมวด 6 มลภาวะทางอากาศ
1. กำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดแต่งตั้ง "คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 37)
2. กำหนดให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดค่าความเป็นพิษขั้นสูงและขั้นต่ำตามมาตรฐานสากลของมลภาวะตามประเภทและลักษณะของมลพิษจากแหล่งมลพิษต่าง ๆ พิจารณาและให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เขตพื้นที่ใด ๆ เป็นเขตพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติอันมาจากแหล่งมลพิษต่าง ๆ (ร่างมาตรา 38)
3. กำหนดให้มีการระบุแหล่งมลพิษทางอากาศที่ตั้งอยู่ในระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอไว้ในแผนที่ข้อมูลสารสนเทศ เช่น แหล่งมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งมลพิษการเผาในที่โล่ง แหล่งมลพิษการก่อสร้าง และแหล่งมลพิษยานพาหนะ เป็นต้น (ร่างมาตรา 41)
หมวด 7 เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาด
1. กำหนดให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษทางอากาศ จัดส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ร่างมาตรา 49)
2. กำหนดให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจ เช่น มีหนังสือเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด เป็นต้น (ร่างมาตรา 50)
หมวด 8 บทกำหนดโทษ
1. กำหนดให้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษจำคุดไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 51)
2. กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 50 (1) (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 52)
3. กำหนดให้ผู้ใดไม่อำนาจความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่เพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 53)
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. กระทรวงมหาดไทย
3. กระทรวงสาธารณสุข
4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
6. กระทรวงการต่างประเทศ
7. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
8. กระทรวงอุตสาหกรรม
9. กระทรวงพลังงาน
10. กระทรวงคมนาคม
11. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
12. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
13. กระทรวงพาณิชย์
14. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
15. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
16. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
17. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
18. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
19. กรุงเทพมหานคร
20. เมืองพัทยา
21. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
22. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
23. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
24. สภาองค์กรของผู้บริโภค
25. สภาการเหมืองแร่
26. สภาลมหายใจเชียงใหม่
27. สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
28. สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
29. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
30. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
31. สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.)
32. สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร
33. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
34. สมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากร
35. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
36. มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
37. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
38. มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
39. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
40. มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
41. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
42. มูลนิธิโลกสีเขียว
43. มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
44. เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย
45. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย)
46. ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดยรัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้มีอากาศสะอาดเพื่อประชาชนอย่างจริงจังตามร่างมาตรา 6
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะรวมตัวเป็นองค์กรกลุ่ม คณะบุคคล หรือเป็นชุมชนและใช้สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐตามร่างมาตรา 8
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาด บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชนตามร่างมาตรา 12
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการตามร่างมาตรา 21
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศตามร่างมาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศตามร่างมาตรา 34
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการมลพิษทางอากาศ โดยมีหน้าที่และอำนาจตามร่างมาตรา 40
8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ระบุแหล่งมลพิษทางอากาศที่ตั้งอยู่ในระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอไว้ในแผนที่ข้อมูลสารสนเทศตามร่างมาตรา 41
9. ท่านเห็นว่าในปัจจุบันมีข้อขัดข้อง ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับประเด็นของร่างกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)