สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     จากสถานการณ์ฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตและเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น โดยสาเหตุมาจากกิจกรรม ต่าง ๆ ของมนุษย์ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมากมาย ทั้งจากการเผาในที่โล่ง การเผาตอซังของเกษตรกร การเผาพื้นที่ป่า กระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ระบบการขนส่ง กระบวนการผลิตไฟฟ้า เขตพื้นที่ก่อสร้าง เขตที่พักอาศัย รวมถึงสาเหตุจากฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ในต่างประเทศ

     ปัจจุบันมีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น และยังคงความเข้มข้น ของมลพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเป็นพิษต่างได้รับผลกระทบซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและตกอยู่ในภาวะอันตรายทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ อีกทั้งยังส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล งบประมาณในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและการจัดการมลพิษ จำเป็นต้องพัฒนา ปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีการบริหารจัดการมลพิษอย่างเป็นระบบ อันจะนําไปสู่การมีอากาศสะอาดโดยส่งเสริมให้เกิดระบบการวางแผนเพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน กลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ การบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม การบริหารจัดการระบบงบประมาณเพื่อการมีอากาศสะอาด ระบบการบริหารราชการเชิงพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดอากาศที่ไม่สะอาด การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศ ระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบเฝ้าระวัง ระบบเตือนภัยจากสถานการณ์อากาศที่ไม่สะอาด ระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤติจากสภาพอากาศและระบบการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการให้เกิดอากาศสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลักสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และในขณะเดียวกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้สมดังสิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน

สาระสำคัญ     

     ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. .... แบ่งออกเป็น 9 หมวด จำนวน 60 มาตรา สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

     หมวด 1 บททั่วไป

     (1) กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศโดยดำเนินการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

     - นโยบายในระดับชาติเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและ คุณภาพชีวิตของประชาชน

     - การสั่งการต่าง ๆ ต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการบูรณาการ ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า มีความซ้ำซ้อนหรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น เสนอให้มีกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงระบบการบริหารราชการเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอากาศสะอาด

     - จัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดตามมาตรฐานสากลและพัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังและเตือนภัยแก่ประชาชนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

     - ดำเนินการในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับ ภูมิภาค ในการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศ

     การดำเนินการข้างต้น ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ (ร่างมาตรา 6)

     (2) กำหนดให้สิทธิของบุคคลในการได้รับอากาศสะอาดย่อมได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย (ร่างมาตรา 7)

     (3) กำหนดให้การใช้สิทธิในการได้รับอากาศสะอาดประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะรวมตัวเป็นองค์กรกลุ่ม คณะบุคคล หรือเป็นชุมชนและใช้สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ตามวรรคสองหน่วยงานของรัฐต้องอํานวยความสะดวกและให้ข้อมูลที่สำคัญ จำเป็นและครบถ้วนแก่ประชาชนที่ร้องขอโดยไม่ชักช้า (ร่างมาตรา 8)

     (4) กำหนดให้รัฐสนับสนุนให้คำแนะนําแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษทางอากาศ ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และให้อำนาจรัฐ ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในฐานะผู้เสียหาย

     หมวด 2 การบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน

     (1) กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 11)

     (2) กำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมีหน้าที่และอำนาจหลัก ดังต่อไปนี้

     - เสนอนโยบายและแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

     - กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดที่เหมาะสมกับบริบทประเทศ

     - พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศซึ่งไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมไปถึงแผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพอากาศของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

     - เสนอแนะมาตรการทางการเงิน การคลัง การภาษีอากร กลไกตลาดส่งเสริมการลงทุน การแก้ไข เพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพอากาศสะอาดต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติตามนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพอากาศต่อคณะรัฐมนตรี

     - ดำเนินการด้านอื่น ๆ เช่น กำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่าง ส่วนราชการ เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศ จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล แต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการหรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและพัฒนาคุณภาพอากาศ เป็นต้น (ร่างมาตรา 12)

     (3) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยให้ผู้อํานวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการแทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัด(ร่างมาตรา 21)

     (4) กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระดับอำเภอได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระดับอำเภอ (ร่างมาตรา 22)

     หมวด 3 มาตรฐานคุณภาพอากาศ

     (1) คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสามารถกำหนดมาตรฐานคุณภาพ อากาศสะอาดเพื่อการฟื้นฟูคุณภาพอากาศ โดยอาศัยหลักวิชาการ กฎเกณฑ์ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐาน และจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย (ร่างมาตรา 25)

     (2) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้หน่วยงานราชการในสังกัด ทำหน้าที่ในการศึกษา พัฒนา ติดตาม และประเมินความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง จัดทำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดที่ได้กำหนดไว้แล้วให้เหมาะสมตามความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทุกสองปีต่อคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

     หมวด 4 ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศ

     (1) กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์ในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และพัฒนาระบบปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์เพื่อการติดตาม การประมวลผล การวิเคราะห์สถานการณ์คุณภาพอากาศตามมาตรฐานสากลจากแหล่งมลพิษ ทางอากาศชนิดต่าง ๆ (ร่างมาตรา 26)

     (2) กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำโครงข่ายระบบฐานข้อมูลดิจิทัลกลางที่สามารถเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลที่สามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลา (ร่างมาตรา 28)

     (3) กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งจะ ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ (Airshed) ที่อยู่ในระดับวิกฤติจากแหล่งมลพิษที่เกิดขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ (ร่างมาตรา 29)

     หมวด 5 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

     (1) กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีของสถานะคุณภาพอากาศโดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

     - ข้อมูลจากสถานีวัดคุณภาพอากาศ ณ จุดต่าง ๆ ที่มีการประมวลและแสดงให้เห็นถึงต้องแสดงถึง ขอบเขตการขยายตัวของมลพิษทางอากาศแต่ละประเภท และจากแต่ละแหล่งที่มีการปล่อยมลพิษ

     - ผลการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์มลพิษที่เกิดขึ้นในระยะเวลาต่าง ๆ ที่มีการเฝ้าระวังติดตาม แนวโน้ม และการพยากรณ์ภาวะมลพิษทางอากาศในระดับต่าง ๆ

     - ระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติ รวมทั้งฐานข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศจากแหล่งต่าง ๆ

     - จัดทำข้อเสนอแนะที่สำคัญและจำเป็นต่อฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเพื่อดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน (ร่างมาตรา 30)

     (2) กำหนดให้กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศเสนอต่อคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

     โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศ ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

     - วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์หลัก

     - ระบบ กลไก และแนวทางขับเคลื่อนระบบ การจัดการสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัย ต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงให้ข้อเสนอแนะในการจัดสรรงบประมาณ ระบบแรงจูงใจ และการอํานวยความสะดวกเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์

     - แนวทางและมาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการเพื่อจัดการสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

     - รายละเอียดอื่น ๆ เช่น กลไกการนํายุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศไปสู่การปฏิบัติ แนวทาง และมาตราการพัฒนาบุคลากรในการบริหารจัดการและการควบคุมมลพิษทางอากาศ กำหนดภารกิจของหน่วยงานรัฐที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผน (ร่างมาตรา 32)

     (3) กำหนดให้แผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ จะต้องประกอบด้วย

     - โครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบดิจิทัลของแหล่งมลพิษต่าง ๆ ระดับจังหวัดและให้ขยายไปยัง อำเภอ รวมไปถึงการจัดทำโครงข่ายระบบฐานข้อมูลดิจิทัลกลางที่สามารถเชื่อมต่อระบบที่สามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลา

     - โครงการกำหนดแผนการลดและจํากัดการปล่อยมลพิษแหล่งต่าง ๆ ตามเป้าหมายของโครงการตามพื้นที่เป้าหมายของแหล่งมลพิษทางอากาศที่ต้องการจะลดการปลดปล่อยมลพิษ และระยะเวลาที่กำหนดและการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)

     - โครงการพัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์และระบบปฏิบัติการเพื่อติดตามประมวลผลการวิเคราะห์สถานการณ์คุณภาพอากาศตามมาตรฐานจากแหล่งมลพิษทางอากาศต่าง ๆ และโครงการหรือมาตรการทางกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

     - ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรอบวงเงินงบประมาณที่จะต้องใช้และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ (ร่างมาตรา 34)

     หมวด 6 มลพิษทางอากาศ

     (1) กำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสามารถแต่งตั้ง "คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ" โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน กรรมการและอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 39)

     (2) กำหนดให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

     - กำหนดประเภทและลักษณะของมลพิษจากแหล่งมลพิษต่าง ๆ และกำหนดค่าความเป็นพิษขั้นสูงและขั้นต่ำของมลพิษทางอากาศแต่ละประเภท

     - พิจารณาและให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เขตพื้นที่ใด ๆ เป็นเขตพื้นที่ ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติอันมาจากแหล่งมลพิษต่าง ๆ

     - เสนอความเห็นและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ป้องกัน ลด หรือขจัดมลพิษทางอากาศ หรือเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การกำหนดมาตรการส่งเสริมด้านภาษีอากร การลงทุน และกลไกทางตลาดของเอกชนให้เกิดอากาศสะอาด ต่อคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

     - ประสานงานระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อควบคุม ป้องกัน ลด หรือขจัด มลพิษทางอากาศและจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์มลพิษเสนอต่อคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

     - ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการมลพิษทางอากาศหรือตามที่คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมอบหมาย

     โดยคณะกรรมการมลพิษทางอากาศสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมลพิษทางอากาศจะมอบหมายก็ได้ (ร่างมาตรา 40)

     (3) ให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการแหล่งมลพิษทางอากาศโดยมีหน้าที่และอำนาจต่อไปนี้

     - ให้คำแนะนําแก่รัฐมนตรีในการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มลพิษทางอากาศแพร่กระจายไปถึง

     - ดำเนินการศึกษาและกำหนดแนวทางในการจัดการกับแหล่งมลพิษประเภทต่าง ๆ โดยให้นําข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลเชิงประวัติเกี่ยวกับประวัติการเกิดมลพิษทางอากาศของพื้นที่หรือของแหล่งต่าง ๆ มาประกอบการศึกษาและกำหนดมาตรการในการแก้ไขป้องกันหรือฟื้นฟูคุณภาพอากาศ

     - จัดทำข้อเสนอ การให้คำแนะนํา การให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ หรือหน่วยงานของรัฐ พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอ เพื่อการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     - ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 42)

     (4) กำหนดให้ระบุกำหนดแหล่งมลพิษทางอากาศ โดยให้จัดแหล่งมลพิษทางอากาศในแต่ละจังหวัด เป็นกลุ่ม ๆ อย่างน้อยดังต่อไปนี้ แหล่งมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งมลพิษการเผาในที่โล่ง แหล่งมลพิษ การก่อสร้าง แหล่งมลพิษจากยานพาหนะ แหล่งมลพิษทางอากาศที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย และแหล่งมลพิษทางอากาศอื่น ๆ (ร่างมาตรา 43)

     (5) เมื่อมีการประกาศให้บริเวณใดเป็นเขตมลพิษตามมาตรา 45 ให้อำนาจปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศคำสั่งให้ผู้ที่ก่อมลพิษหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทันที และให้คณะกรรมการด้านวิชาการแหล่งมลพิษทางอากาศร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดเข้าไปดำเนินการตรวจสอบแหล่งมลพิษทางอากาศ ควบคุมแหล่งมลพิษ ทำการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศขึ้นอีกในอนาคต (ร่างมาตรา 46)

     (6) กำหนดให้ในกรณีเขตมลพิษทางอากาศใดยังคงมีสภาพมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และส่งผลกระทบต่อประชาชนในเขตมลพิษทางอากาศ ให้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตมลพิษทางอากาศโดยดำเนินการดังต่อไปนี้

     - ทำการสํารวจและเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศชนิดต่าง ๆ จุดและจำนวนที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีอยู่ในเขตมลพิษทางอากาศ

     - จัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวน ประเภท และขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ได้ทำการสํารวจและเก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบกับระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ย้อนหลัง

     - ทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานภาพและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็น สำหรับการลดและขจัดมลพิษ และฟื้นฟูสภาพอากาศในชั้นบรรยากาศในเขตมลพิษทางอากาศ (ร่างมาตรา 48)

     หมวด 7 เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาด

     (1) กำหนดให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่ง มลพิษทางอากาศจัดส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ร่างมาตรา 51)

     หมวด 8 ค่าปรับและบทกำหนดโทษ

     (1) ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยระวางโทษปรับจะคำนวณในอัตราก้าวหน้าครั้งละ 200 ในกรณีที่มีความผิดซ้ำซ้อนในระยะเวลาหนึ่งปี (ร่างมาตรา 53)

     (2) ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยระวางโทษปรับจะขึ้นในอัตราก้าวหน้าครั้งละร้อยละ 200 ในกรณีที่มีความผิดซ้ำซ้อนในระยะเวลาหนึ่งปี (ร่างมาตรา 54)

     (3) ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 52 (1) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยระวางโทษปรับจะขึ้นในอัตราก้าวหน้าครั้งละร้อยละ 200 ในกรณีที่มีความผิดซ้ำซ้อนในระยะเวลาหนึ่งปี (ร่างมาตรา 55)

     (4) ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 52 (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยระวางโทษปรับจะขึ้นในอัตราก้าวหน้าครั้งละร้อยละ 200 ในกรณีที่มีความผิดซ้ำซ้อนในระยะเวลาหนึ่งปี (ร่างมาตรา 56)

     (5) ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 52 (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท โดยระวางโทษปรับจะขึ้นในอัตราก้าวหน้าครั้งละร้อยละ 200 ในกรณีที่มีความผิดซ้ำซ้อนในระยะเวลาหนึ่งปี (ร่างมาตรา 57)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     2. กระทรวงมหาดไทย

     3. กระทรวงสาธารณสุข

     4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     5. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     6. กระทรวงการต่างประเทศ

     7. กระทรวงอุตสาหกรรม

     8. กระทรวงพลังงาน

     9. กระทรวงคมนาคม

     10. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     11. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

     12. กระทรวงพาณิชย์

     13. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     14. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     15. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

     16. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

     17. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

     18. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

     19. กรุงเทพมหานคร

     20. เมืองพัทยา

     21. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

     22. สภาเกษตรกรแห่งชาติ

     23. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

     24. สภาองค์กรของผู้บริโภค

     25. สภาการเหมืองแร่

     26. สภาลมหายใจเชียงใหม่

     27. สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย

     28. สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

     29. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

     30. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

     31. สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.)

     32. สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร

     33. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

     34. สมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากร

     35. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

     36. มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

     37. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

     38. มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

     39. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

     40. มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

     41. มูลนิธิบูรณะนิเวศ

     42. มูลนิธิโลกสีเขียว

     43. มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

     44. เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย

     45. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย)

     46. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยการบริหารจัดการอากาศสะอาด โดยรัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศตามร่างมาตรา 6

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะรวมตัวเป็นองค์กรกลุ่ม คณะบุคคล หรือเป็นชุมชนและใช้สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐตามร่างมาตรา 8

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชนตามร่างมาตรา 12

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดตามร่างมาตรา 21

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศตามร่างมาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศตามร่างมาตรา 34

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการมลพิษทางอากาศ โดยมีหน้าที่และอำนาจตามร่างมาตรา 40

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ระบุแหล่งมลพิษทางอากาศที่ตั้งอยู่ในระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอไว้ในแผนที่ข้อมูลสารสนเทศตามร่างมาตรา 43

     9. ท่านเห็นว่าในปัจจุบันมีข้อขัดข้อง ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับประเด็นของร่างกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

     10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)