หมวด 1 องค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุข/คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำจังหวัด และคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (ร่างมาตรา 8-16)
หมวด 2 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการเป็นฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข
1. คุณสมบัติของบุคคลที่อาจได้รับคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน (ร่างมาตรา 17)
บุคคลที่อาจได้รับคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
2. มีชื่อในทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่เป็นการประจำในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประสงค์จะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน
3. มีความรู้สามารถอ่านออกเขียนได้
4. สมัครใจและเสียสละเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานสาธารณสุข
5. ประสงค์จะเข้าร่วมหรือเคยเข้าร่วมการดำเนินงานสาธารณสุขและต้องการพัฒนาชุมชนของตนเอง
6. มีความประพฤติอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี ได้รับความไว้วางใจและยกย่องจากประชาชน
7. มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่เป็นแบบอย่าง
8. มีเวลาให้กับการทำงานในบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
2. วิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน (ร่างมาตรา 18-20)
วิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน
1. ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน ในสัดส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านอย่างน้อย 1 คน ต่อ 10 หลังคาเรือนขึ้นไป
2. ให้หมู่บ้านหรือชุมชนคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดยความเห็นชอบของหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้แทนจำนวนไม่น้อยกว่า 10 หลังคาเรือน
3. ให้สถานบริการสุขภาพที่รับผิดชอบชุมชนนั้นเสนอรายชื่อบุคคลที่ได้รับคัดเลือกต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อเข้ารับการฝึกอบรม
4. หากบุคคลที่ได้รับคัดเลือกเคยเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมาก่อน จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมใหม่
5. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุข สนับสนุนให้ผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกลางกำหนด
3. บุคคลที่มีอำนาจออกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม (ร่างมาตรา 21)
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือในกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ออกใบประกาศให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม และผ่านการประเมินความรู้ความสามารถตามหลักสูตร
4. บุคคลที่มีอำนาจขึ้นทะเบียนบุคคลเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน (ร่างมาตรา 22)
ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณีดำเนินการขึ้นทะเบียนบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการประเมินความรู้ตามหลักสูตร เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านพร้อมออกบัตรประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านตามที่รัฐมนตรีกำหนด
5. การฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (ร่างมาตรา 23-25)
1. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสนับสนุนการจัดฝึกอบรมเพื่อฟื้นฟูความรู้ความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือการอบรมความรู้ความชำนาญเฉพาะทางให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อยกระดับความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านตามมาตรฐานสมรรถนะและมาตรฐานงานที่กำหนด
2. ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ดำเนินการออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรม
3. อาสาสมัครสาธารณสุขที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้านที่คณะกรรมการกลางกำหนด และสามารถใช้ระบบเทเลเมดิซีน ให้ถือว่าผู้นั้นมีสถานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน”
4. อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้าน และระบบเทเลเมดิซีนที่คณะกรรมการกลางกำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นมีสถานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้าน”
6. การสิ้นสุดสภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (ร่างมาตรา 26-28)
ให้อาสาสมัครสาธารณสุขสิ้นสุดสภาพเมื่อ
1. ตาย
2. ลาออก
3. เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
4. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีคำสั่งให้พ้นสภาพเพราะเหตุประพฤติชั่วหรือประพฤติผิดร้ายแรง
5. กรณีที่หัวหน้าครัวเรือนหรือผู้แทนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หลังคาเรือนร่วมกันลงลายมือชื่อร้องเรียนอาสาสมัครสาธารณสุข ต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้พ้นสภาพการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข หากคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า
1) อาสาสมัครสาธารณสุขผู้นั้นไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมด้านสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานของรัฐจัดโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็น
2) อาสาสมัครผู้นั้นไม่รักษาจรรยาบรรณของอาสาสมัครสาธารณสุขหรือมีความประพฤติเสียหายที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของอาสาสมัครสาธารณสุข
หมวด 3 บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของอาสาสมัครสาธารณสุข (ร่างมาตรา 29) เพิ่มเติมจากระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2554 ในข้อ (10) และ ข้อ (11) อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำบ้าน และ อาสาสมัครสาธารณสุขหมอประจำหมู่บ้าน ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่อาสาสมัครสาธารณสุขพึงกระทำทุกประการและต้องสามารถใช้ระบบเทเลเมดิซีนในการดำเนินงานได้
หมวด 4 กำหนดสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครสาธารณสุข ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล ค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษจากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ สิทธิได้รับเงินค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่ สิทธิได้รับการประกาศเกียรติคุณ สิทธิได้รับโควตาศึกษาในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของอาสาสมัครสาธารณสุขและบุตร สิทธิประโยชน์อื่น ๆ และกองทุน (ร่างมาตรา 30-35) แก้ไขจากระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2554 ในมาตรา 33 ข้อ (2) เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขทักษะระดับมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
หมวด 5 การรักษาจรรยาบรรณอาสาสมัครสาธารณสุข (ร่างมาตรา 36)
1. หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
1.1 กระทรวงสาธารณสุข
1.2 กระทรวงมหาดไทย
1.3 กรมบัญชีกลาง
1.4 กรุงเทพมหานคร
1.5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.6 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. อาสาสมัครสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
3. นักวิชาการ/อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
4. ประชาชนทั่วไป