สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ ซึ่งกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อให้บุคคลผู้สูงอายุที่มีสัญชาติไทยและมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 48 กำหนดให้บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม
จากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 71 กำหนดให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำนาญเพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุในหลายระบบที่รัฐดำเนินการเพื่อจ่ายเป็นรายได้รายเดือนไปตลอดช่วงชีวิตของผู้สูงอายุ สำหรับประชาชนทุกคนการมีหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงอายุถือว่าเป็นสิทธิที่จำเป็นและต้องมีจำนวนที่พอเพียง เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งรัฐควรต้องจัดให้มีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าแบบถ้วนหน้าให้ประชาชนที่อายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไปทุกคนด้วยสิทธิที่เสมอกันภายใต้หลักการสวัสดิการเป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชน และต้องไม่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันในระหว่างประชากรอาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นบำนาญพื้นฐานและเป็นหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุทุกคน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป

1. กำหนดคำนิยาม “บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า” “คณะกรรมการ” “กรรมการ” และ “รัฐมนตรี” กำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

2. กำหนดให้บุคคลทุกคนที่มีสัญชาติไทยอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปให้ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า โดยไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่น กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า และกำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าปรับเพิ่มทุก 3 ปี ตามเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็นคณะกรรมการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า การห้ามกรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาเข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น และให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งเรียกให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำและส่งเอกสารประกอบการพิจารณา และการตั้งอนุกรรมการเฉพาะด้านเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ให้คำแนะนำปรึกษา เสนอแนะทางวิชาการต่อคณะกรรมการ

4. กำหนดบทกำหนดโทษ กรณีผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ กรณีผู้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และกรณีที่รัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนจะต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะจ่ายครบถ้วน

5. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้คณะกรรมการประกาศปรับเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ภายใน 180 วันหลังจากพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. กระทรวงการคลัง

2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

3. สำนักงบประมาณ

4. สำนักนายกรัฐมนตรี

5. กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

6. สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

7. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ในการกำหนดเกี่ยวกับคำนิยาม การให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ในการกำหนดสิทธิได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าเกี่ยวกับผู้มีสิทธิและอัตราบำนาญพื้นฐาน

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ในการกำหนดคณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ในการกำหนดบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล

5. ท่านเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ หากมีผลบังคับใช้จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือไม่ เพียงใด

6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)