โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชา กัญชง มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือการพัฒนานวัตกรรม ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตน และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันและอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง มาใช้ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค มิให้มีการบริโภคกัญชา กัญชง อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแล ควบคุมการขาย การโฆษณา และการบริโภคกัญชา กัญชงเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ซึ่งมีสาระสำคัญในประเด็นดังต่อไปนี้
1. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม รวมทั้งการเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนหรือใช้ในสถานพยาบาลต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับจดแจ้งก่อนจึงจะดำเนินการดังกล่าวได้
2. กำหนดพื้นที่เพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง ได้แก่ (1) พื้นที่ขนาดเล็ก ไม่เกิน 5 ไร่
(2) พื้นที่ขนาดกลาง เกิน 5 ไร่ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ไร่ และ (3) พื้นที่ขนาดใหญ่ เกิน 20 ไร่ขึ้นไป
3. กำหนดให้การนำเข้าหรือส่งออกกัญชา กัญชง หรือสารสกัด ต้องได้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้ง
4. กำหนดประเภทและคุณสมบัติของบุคคลที่สามารถได้รับใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้งเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
5. กำหนดหน้าที่ของผู้รับอนุญาตและผู้จดแจ้ง
6. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง และการเลิกกิจการ
7. กำหนดการโฆษณาหรือการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับกัญชา กัญชง สารสกัด เครื่องมือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบกัญชา
8. กำหนดความคุ้มครองบุคคลที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง
หรือสารสกัด
8.1 ห้ามขายกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือ
สารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
8.2 ห้ามขายกัญชา กัญชงหรืออาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด
เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ โดยวิธีการหรือในลักษณะใช้เครื่องขาย ขายช่อดอกหรือยาง
โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ขายช่อดอกหรือยางเพื่อการสูบโดยวิธีการแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น เร่ขายช่อดอกหรือยาง หรือห้ามขายในบางสถานที่ เป็นต้น
8.3 ห้ามขายกัญชา กัญชงในวัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือสถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
8.4 ห้ามสูบกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในสถานที่สาธารณะและสถานที่
หรือบริเวณ ดังนี้ (1) วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ
และสถานพยาบาล เว้นแต่บริเวณที่จัดให้สำหรับผู้ป่วยหรือที่พักส่วนบุคคล (3) ร้านขายยา (4) สถานที่ราชการ เว้นแต่บริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล (5) สถานศึกษา เว้นแต่เพื่อการเรียน การสอน
หรือการวิจัย (6) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
(7) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก และ (8) ร้านอาหารหรือสถานที่ของผู้รับอนุญาต และยานพาหนะ
8.5 ห้ามผู้มึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบขับขี่ยานพาหนะ รวมทั้งการอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสามารถทดสอบผู้ขับขี่ยานพาหนะได้
1. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
2. สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
6. สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
7. กรมศุลกากร
8. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
9. สภากาชาดไทย
10. แพทยสภา
11. สัตวแพทยสภา
12. สภาการแพทย์แผนไทย
13. สภาเภสัชกรรม
14. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
15. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
16. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
17. ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการอนุญาตให้เพาะปลูกกัญชา กัญชง การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม รวมทั้งการเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการที่ต้องได้รับอนุญาตหรือจดแจ้งก่อนที่จะสามารถเพาะปลูกกัญชา กัญชง การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม หรือการเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง ได้แก่ (1) พื้นที่ขนาดเล็ก ไม่เกิน 5 ไร่ (2) พื้นที่ขนาดกลาง เกิน 5 ไร่ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ไร่ และ (3) พื้นที่ขนาดใหญ่ เกิน 20 ไร่ขึ้นไป
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การนำเข้าหรือส่งออกกัญชา กัญชง หรือ
สารสกัดของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวจาก
ผู้อนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออก
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการโฆษณาหรือการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชง
ที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการห้ามขายกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการห้ามผู้ใดสูบกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในสถานที่สาธารณะและสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้
8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดห้ามผู้มึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบขับขี่ยานพาหนะ รวมทั้งการอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสามารถทดสอบผู้ขับขี่ยานพาหนะได้หรือไม่
9. ท่านเห็นว่าการยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของประชาชนและสังคมในภาพรวมของประเทศหรือไม่ และหากพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)