ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในระดับสูงซึ่งปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ รัฐมักมีมุมมองในการสงวนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ยังคงเป็นของรัฐเมื่อเกิดความจำเป็นที่จะต้องกระจายที่ดินให้ประชาชนใช้ประโยชน์เพื่อทำกินหรือเพื่อเหตุจำเป็นอื่น รัฐก็มักจะกำหนดมิให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นตกเป็นของประชาชน พร้อมทั้งพ่วงเงื่อนไขหลายประการ เช่น การจำกัดประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจำกัดการโอนสิทธิครอบครอง ดังที่พบในบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในที่ดินต่อทั้งผู้ครอบครองเดิมและผู้ครอบครองใหม่ อีกทั้งยังทำให้รัฐขาดฐานข้อมูลผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวที่ถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินแก่ประชาชนอย่างแท้จริงอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินของประเทศไทย รวมไปถึงผลประโยชน์ต่อรัฐที่จะทำให้มีฐานข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้องแม่นยำขึ้น จึงจำเป็นต้องตราร่างพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
ให้บุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามร่างมาตรา 23 ได้แก่ (1) ผู้มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ และมีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ได้เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อเนื่องนับแต่ได้รับอนุญาตจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยมีการแบ่งแยกหรือโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่น เว้นแต่เป็นการแบ่งแยกเพื่อการรับโอนมาทางการตกทอดทางมรดก (2) ผู้ที่ไม่มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ แต่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ได้เข้าทำเกษตรกรรมในที่ดินนั้นอย่างสงบเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการได้ที่ดินนั้นมาจากผู้มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือ (3) ผู้ที่ไม่มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ แต่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ได้เข้าทำประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมในที่ดินนั้นอย่างสงบเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการได้ที่ดินนั้นมาจากผู้มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น เป็นประชาชนผู้มีสิทธิซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน
เพื่อเกษตรกรรมสามารถพิจารณาออกหนังสือรับรอง เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินจากกรมที่ดินได้ อย่างไรก็ตาม บุคคลผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ห้ามแบ่งแยกหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนตามเงื่อนเวลาที่ได้กำหนดห้ามไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้
1. ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ห้ามบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามร่างมาตรา 23 (1) แบ่งแยกหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่น
2. ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน ห้ามบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามร่างมาตรา 23 (2) และ (3) แบ่งแยกหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่น
แต่ทั้งนี้หากเป็นกรณีโอนขายไปยังธนาคารที่ดินหรือเป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมไม่อยู่ในบังคับของเงื่อนเวลาข้างต้น
นอกจากนี้ เมื่อพระราชกฤษฎีกาการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามร่างพระราชบัญญัตินี้ มีผลใช้บังคับแล้ว ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนทั่วราชอาณาจักรเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และยุบสำนักงาน
การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยให้โอนที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินไปอยู่ในความดูแล
ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
1. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการห้ามภาครัฐกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในท้องที่ใดอีก แต่สามารถดำเนินปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนได้ เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
2. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน
3. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน อาทิ การสำรวจสิทธิ และดำเนินการออกหนังสือรับรองให้กับประชาชนผู้มีสิทธิในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำไปสู่การออกโฉนดที่ดิน
4. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดว่าที่ดินซึ่งจะนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่ดินซึ่งเคยออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาก่อนหรือไม่
5. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลตามร่างมาตรา 23 เป็นประชาชนผู้มีสิทธิ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถพิจารณาออกหนังสือรับรอง เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินได้
6. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้กรมที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประชาชนผู้มีสิทธิมีคำขอ
7. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดให้ยุบสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้โอนที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ภายหลังจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนทั่วราชอาณาจักรเสร็จสิ้นแล้ว
8. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ กับการกำหนดเงื่อนเวลาห้ามแบ่งแยกหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้
9. ท่านเห็นด้วย หรือไม่ ว่าพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีปัญหาในการบังคับใช้ และร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. .... สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
10. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ท่านมีความคิดเห็นประเด็นอื่น ๆ อย่างไร เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้