ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดให้ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ (เพิ่มบทนิยาม “ผู้เสียหาย” ในมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 28)
โดยมีเหตุผลเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติรองรับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้ได้มีการยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้อำนาจผู้เสียหายฟ้องคดีได้เองในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาหรือกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วเห็นว่าข้อมูลหาไม่มีมูล และกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่มีบทบัญญัติรองรับการฟ้องคดีของผู้เสียหาย จึงต้องมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้เสียหายฟ้องคดีไว้ด้วย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ทั้งนี้ มีหลักการสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ด้วยตนเอง โดยมีการเสนอเพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” กำหนดเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรอง อายุความในการดำเนินคดีอาญาให้สะดุดหยุดลงเมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว การไต่สวนมูลฟ้อง และให้ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย รวมถึงออกหมายจับและรายงานผลการติดตามจับกุม สำหรับกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดีเอง
ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)
1. สำนักงานศาลยุติธรรม
2. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
3. สำนักงานอัยการสูงสุด
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
5. ประชาชนทั่วไป
1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นผู้มีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับผู้เสียหายในระเบียบของที่ประชุมศาลฎีกา ตามร่างมาตรา 4 หรือไม่ อย่างไร
3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้อายุความในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต้องสะดุดหยุดลงเมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ตามร่างมาตรา 5 อย่างไร
4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ตามร่างมาตรา 6 อย่างไร
5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย รวมถึงออกหมายจับและรายงานผลการติดตามจับกุมในกรณีผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ตามร่างมาตรา 7 อย่างไร
6. ท่านเห็นว่าที่ผ่านมากรณีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องคดีด้วยตนเองมีปัญหาและมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาและจะก่อให้เกิดความเหมาะสมได้หรือไม่ อย่างไร
7. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)