ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ฉบับนี้
เสนอแก้ไขเนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 บางมาตราอาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำช้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกัน
และแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการจัดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบและพิจารณาลงโทษ และคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาพการกระทำผิด และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนกำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำผิด
กำหนดเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมกิจการประมง การจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและรองรับการจัดระเบียบการประมงทะเลในน่านน้ำอื่นภายใต้กติการะหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจตนา เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพตามแนวทางที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้ง การกำหนดอำนาจของรัฐมนตรีรักษาการให้ออกกฎกระทรวงได้เฉพาะที่บัญญัติให้ต้องออกเป็นกฎกระทรวงเท่านั้น การใช้อำนาจของรัฐไทยกรณีความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทยซึ่งการกระทำความผิดนั้นมิใช่เรือประมงไทย และในกรณีที่มีเรือประมงกระทำความผิดในน่านน้ำไทยซึ่งได้หลบหนีไปยังรัฐชายฝั่งอื่นโดยให้ศาลไทยมีอำนาจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกับผู้กระทำความผิดนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการประมงซึ่งจากเดิมแต่งตั้งจากปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ตารางเปรียบเทียบร่างปรับปรุง ร่างแก้ไขเพิ่มเติม (เอกสารประกอบ)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงคมนาคม
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กระทรวงมหาดไทย
- ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
- ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ชาวประมง
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการประมง ด้านประมงพาณิชย์ ด้านประมงพื้นบ้าน และด้านกฎหมายเกี่ยวกับการประมง
- ผู้ประกอบกิจการประมง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประมง
- ประชาชน
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร .นการกำหนดให้ผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประมง สามารถเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการประมง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เกี่ยวกับการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายการประมงแทนปลัดกระทรวงเป็นเกี่ยวข้อง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เกี่ยวกับการกำหนดทะเลชายฝั่ง ว่าหมายถึง ทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งอื่นที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล และนับจากแนวชายเกาะออกไปหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเล เพื่อประโยชน์ในการทำการประมง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้สังเกตการณ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่บนเรือประมงตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่และต้องรับโทษเสมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีที่กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เกี่ยวกับการกำหนดให้ การขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล ใช้ระบบการจดแจ้งแทนการขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่หรือมีความเห็นอย่างไรว่าในการกำหนดให้เรือประมงพื้นบ้านของรัฐอื่นที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทยสามารถนำเข้าสัตว์น้ำของเรือประมงพื้นบ้านได้ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 95 และมาตรา 96 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำได้
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับแนวปฏิบัติของกรมประมงตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า ที่จะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเรือ รายละเอียดของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและวัตถุประสงค์ของการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ล่วงหน้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกที่ท่าเทียบเรือนั้นตั้งอยู่ เฉพาะกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดห้ามมิให้มีการจ่ายเงินรางวัลนำจับตามพระราชกำหนดนี้
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีมาตรการทางปกครองที่โปร่งใส ชัดเจน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรการทางปกครองระดับจังหวัด และกำหนดมาตรฐานการใช้มาตรการทางปกครองมีขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้โทษอาญาที่ได้กำหนดไว้เพื่อกำหนดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและบริบทการทำการประมงของไทย
- ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
- ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)