สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเอกสารของรัฐไทยยังคงกำหนดให้ใช้คำนำหน้านาม ซึ่งถือตามเพศกำเนิด ได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตนและกระทบต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม กฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้รับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยอมรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศที่มีความหลากหลาย ดังนั้น สมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมุ่งให้เกิดการคุ้มครองและรับรองสิทธิในเรื่องการใช้คำนำหน้านาม การระบุเพศของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

 

     ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. .... มีทั้งหมด 44 มาตรา 7 หมวด มีสาระสำคัญดังนี้

     1. กำหนดนิยามของคำว่าเพศสภาพ เพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ เอกสารประกาศเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ

     2. หมวด 1 กำหนดเกี่ยวกับการขอให้รับรองเพศ โดยให้บุคคลมีสิทธิขอให้มีการรับรองเพศตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ มีสิทธิใช้คำนำหน้านามและการขอให้ระบุเพศของตนที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง การขอให้รับรองเพศของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

     3. หมวด 2 กำหนดวิธีการดำเนินการ รายการเอกสาร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำขอให้รับรองเพศ การระบุคำนำหน้านาม และการระบุเพศในเอกสารราชการ

     4. หมวด 3 กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลข้ามเพศ

     5. หมวด 4 กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ

     6. หมวด 5 กำหนดสิทธิในมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น สิทธิในสวัสดิการ มาตรการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศใด ๆ ที่หน่วยงานของรัฐกำหนดหรือประกาศรับรองให้ตามเพศกำเนิด เป็นต้น และกำหนดภาระผูกพันทางการเงินของชายข้ามเพศ

     7. หมวด 6 กำหนดเกี่ยวกับบุคคลที่มีเพศกำกวม ตั้งแต่ทารกที่คลอดออกมามีเพศกำกวม เด็กเพศกำกวม ไปจนถึงบุคคลเพศกำกวม ในด้านสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการเลือกเพศ สิทธิในการนำหน้านาม สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านาม สิทธิเข้ารับการศึกษา สิทธิสมัครงานและเข้าทำส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น

     8. หมวด 7 กำหนดโทษสำหรับกรณี ดังต่อไปนี้

          8.1 กรณียื่นคำขอโดยใช้หรืออ้างหรือนำเสนอเอกสารปลอม หรือเอกสารอันเป็นเท็จ

          8.2 กรณีจิตแพทย์ออกเอกสารรับรองอันเป็นเท็จ

          8.3 กรณีบุคคลที่ได้รับการรับรองเพศไม่ดำเนินการตามที่กำหนดไว้

          8.4 กรณีสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้

          8.5 กรณีแพทย์ผ่าตัดเพื่อเลือกเพศให้ทารกและระบุเพศทารกในหนังสือรับรองการเกิด

          8.6 กรณีสถานศึกษาละเมิด กีดกัน หรือกระทำด้วยประการใดเพื่อไม่ให้บุคคลเพศกำกวมสมัครหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา

          8.7 กรณีผู้ขอรับรองเพศมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับราชการทหาร หรือเจตนาไม่ปฏิบัติตามหน้าที่รับราชการทหารตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

          8.8 กรณีกระทำการโดยทุจริตเพื่อให้ตนได้รับการรับรองเพศตามพระราชบัญญัตินี้และได้ใช้หรือได้รับสิทธิหรือสวัสดิการตามมาตรการส่งเสริมสิทธิสตรี หรือมาตรการส่งเริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

     2. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

     3. กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม

     4. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

     5. กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

     6. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     7. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

     8. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

     9. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

     10. กระทรวงศึกษาธิการ

     11. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     12. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     13. แพทยสภา

     14. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

     15. สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

     16. กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

     17. ตัวแทนภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดนิยามคำว่าเพศสภาพ เพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ เอกสารประกาศเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับการขอให้รับรองเพศ โดยให้บุคคลมีสิทธิขอให้มีการรับรองเพศตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ มีสิทธิใช้คำนำหน้านามและการขอให้ระบุเพศของตนที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง การขอให้รับรองเพศของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับกำหนดวิธีการดำเนินการ รายการเอกสาร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำขอให้รับรองเพศ การระบุคำนำหน้านาม และการระบุเพศในเอกสารราชการ

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลข้ามเพศ และ/หรือ กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดสิทธิในมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ 

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับบุคคลที่มีเพศกำกวม ตั้งแต่ทารกที่คลอดออกมามีเพศกำกวม เด็กเพศกำกวม ไปจนถึงบุคคลเพศกำกวม ในด้านสิทธิต่าง ๆ 

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีบทลงโทษในการกระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้

     8. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ