สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีความหลากหลายของลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้บุคคลทุกเพศสามารถก่อตั้งครอบครัวได้ โดยกำหนดให้บุคคลทุกคนได้การรับรองและคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ว่าด้วยภูมิลำเนาของคู่สมรส อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สมรส การหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกันของคู่สมรส การสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส เหตุแห่งการฟ้องหย่า การจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทนค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส การเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

 

     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

     1. ให้ ชาย หญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน สามารถหมั้น สมรสกันได้ตามกฎหมาย เป็นคู่หมั้น คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 1 และหมวด 2 (มาตรา 1435 มาตรา 1437 มาตรา 1439 มาตรา 1440 มาตรา 1441 มาตรา 1442 มาตรา 1443 มาตรา 1445 มาตรา 1446 มาตรา 1447/1 มาตรา 1448 มาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 มาตรา 1458 และมาตรา 1460)

     2. หมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา โดยแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม และยังกำหนดให้ตัดคำว่า สามีและภริยา และให้เพิ่มคำว่า "คู่สมรส" ในบรรพ 1 หลักทั่วไป ลักษณะ 2 บุคคล ส่วนที่ 3 ภูมิลำเนา (มาตรา 43) และลักษณะ 6 อายุความ หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา 193/22) เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในหมวดนี้

     3. หมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา โดยแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม และกำหนดให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสซึ่งบุคคลสองคนสมรสกัน ให้มีสิทธิหน้าที่และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 3 (มาตรา 1461 มาตรา 1462 และมาตรา 1463)

     4. หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม

     5. สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน โดยแก้ไข เพิ่มเติมบรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 4 (มาตรา 1465 มาตรา 1469 มาตรา  1470 มาตรา 1475 มาตรา 1476 มาตรา 1476/1 มาตรา 1477 มาตรา 1479 มาตรา 1481 มาตรา 1482 มาตรา 1483 มาตรา 1484 มาตรา 1484/1 มาตรา 1485 มาตรา 1486 มาตรา 1487 มาตรา 1488 มาตรา 1489 มาตรา 1490 มาตรา 1491 มาตรา 1492 มาตรา 1492/1 และมาตรา 1493)

     6. การสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาดจากการสมรส การจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทนค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส โดยแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 5 - 6 (มาตรา 1498 มาตรา 1499 มาตรา 1504 มาตรา 1508 มาตรา 1515 มาตรา 1516 มาตรา 1517 มาตรา 1520 มาตรา 1522 มาตรา 1523 มาตรา 1530 มาตรา 1532 และมาตรา 1533) และแก้ไขลักษณะ 2 หมวด 3 ความปกครอง มาตรา 1598/15 มาตรา 1598/17) และลักษณะ 3 ค่าอุปการะเลี้ยงดู (มาตรา 1598/38)

     7. ให้คู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกันตามบรรดากฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบใดที่บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่แก่สามีภริยา หรือสามี หรือภริยา หรือคู่สมรส แล้วแต่กรณี (เพิ่มเติมมาตรา 1598/42)

     8. ให้กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ที่ฆ่าคู่สมรสของตนเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก (มาตรา 1606 (3))

     9. คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิต (มาตรา 1625 (1) และมาตรา 1628)

     10. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือ คู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรส

     11. การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย และความสัมพันธ์ของชาย หญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามข้อ 1 - ข้อ 9 ตามบรรพ 5 ครอบครัว และ บรรพ 6 มรดกแล้วก็ให้สามารถกระทำได้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงมหาดไทย

     2. กระทรวงยุติธรรม

     3. กระทรวงการต่างประเทศ

     4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     5. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     6. สำนักงานศาลยุติธรรม

     7. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ตามกฎหมาย

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้บุคคลสามารถสมรสได้เมื่ออายุสิบแปดปีบริบูรณ์

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการบัญญัติ โดยใช้คำว่า "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีและภริยา" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการบัญญัติให้คู่สมรสเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ หน้าที่ และจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการบัญญัติให้คู่สมรสเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันกับสามีภริยา หรือสามี หรือภริยา หรือคู่สมรส ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น 

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คู่สมรสเพศเดียวกันที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมายเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิต

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือ คู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรส

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย และความสัมพันธ์ของชาย หญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามข้อ 1 - ข้อ 9 ตามบรรพ 5 ครอบครัว และ บรรพ 6 มรดกแล้วก็ให้สามารถกระทำได้

     9. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ