โดยที่คณะนายทหารกลุ่มหนึ่งในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และตั้งตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกาศใช้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็มีอำนาจในการออกคำสั่งได้อีกตามมาตรา 44 นั้น
การใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดนี้ได้รับรองเอาไว้ทั้งหมด กล่าวคือ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ตั้งแต่วันที 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เข้ารับหน้าที่นั้น ได้ถูกรับรองให้มีผลทางกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 47 และรับรองต่อเนื่องไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 279 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ก็ได้ถูกรับรองให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดไว้ในมาตรา 44 นั้นเอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 ยังกำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจตามมาตรา 44 ต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เข้ารับหน้าที่ ซึ่งคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ได้ถูกรับรองให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 279
ตลอดช่วงเวลาของการครองอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวนมากที่มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดหลักนิติธรรม ขัดหลักความยุติธรรม หรือขัดรัฐธรรมนูญโดยตัวมันเอง แต่ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะขัดกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 299 ได้รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้ทั้งหมด แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปแล้วหลายฉบับ แต่ก็ยังคงเหลือประกาศและคำสั่งอีกจำนวนมากที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดกับหลักนิติธรรม และปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หากประกาศและคำสั่งเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไป ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งในด้านสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ สังคม และชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและขัดกับหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยกำลังทยอยกลับเข้าสู่ระบบปกติ โดยเริ่มต้นจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องคงประกาศและคำสั่งเหล่านี้ไว้เพื่อให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง
โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้
1. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
2. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัวหรือแจ้งเหตุขัดข้อง ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
3. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 เรื่องการดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
4. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัว ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
5. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
6.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
7. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2558
8. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และประชาชนโดยส่วนรวม ลงวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2558
9. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ลงวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2558
10. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดิน เพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558
11. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559
12. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559
13. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2559
14. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ลงวันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2559
15. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
16. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560
17. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และประโยชน์สาธารณะของประเทศ ลงวันที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2560
1. สำนักนายกรัฐมนตรี
2. กระทรวงกลาโหม
3. กระทรวงการคลัง
4. กระทรวงการต่างประเทศ
5. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
6. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
8. กระทรวงคมนาคม
9. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
10. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
11. กระทรวงพลังงาน
12. กระทรวงพาณิชย์
13. กระทรวงมหาดไทย
14. กระทรวงยุติธรรม
15. กระทรวงแรงงาน
16. กระทรวงวัฒนธรรม
17. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
18. กระทรวงศึกษาธิการ
19. กระทรวงสาธารณสุข
20. กระทรวงอุตสาหกรรม
21. ประชาชนทั่วไป
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามที่ระบุในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
2. ท่านมีความคิดเห็นอื่น ๆ อย่างไร เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้