ร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2489 ซึ่งก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมนี้กฎหมายพระธรรมนูญศาลทหารได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วจำนวน 10 ครั้ง*[1]โดยเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระแล้วย่อมเห็นได้ว่า กฎหมายพระธรรมนูญศาลทหารเป็นกฎหมายสบัญญัติ (Adjective Law) หรือกฎหมายวิธีสบัญญัติ (Procedural Law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการหรือวิธีการเพื่อนำเอาเนื้อหาสาระของกฎหมายสารบัญญัติ (Substantive Law) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ ตลอดจนกำหนดความรับผิดเกี่ยวกับกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญามาบังคับใช้แก่ผู้กระทำความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร โดยการเสนอร่างได้มีการกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มความเกี่ยวกับประเภทของคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารเป็นผู้เสียหาย เพื่อมิให้คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร รวมถึงได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มความใน บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนคดีดังกล่าวจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือนกรณีที่การพิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จ แต่หากการพิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออุทธรณ์หรือฎีกาก็ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารดังเดิม ทั้งนี้ เพื่อความมุ่งหมายในการคุ้มครองสิทธิของ "ผู้เสียหาย” ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้กระทำความผิด และเป็นบุคคลที่มิได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เพื่อที่ผู้เสียหายจะได้ไม่เสียสิทธิในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเอง ทั้งที่เป็นความผิดอันยอมความได้ และความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งเป็นความผิดอันยอมความมิได้เป็นสำคัญ
ดังนั้น จึงขอสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มความบทบัญญัติเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
1. เพิ่มเติมประเภทของคดี กรณีที่ผู้เสียหายไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร
กำหนดให้มีการบัญญัติหลักการเกี่ยวกับประเภทของคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารเพิ่มเติม โดยให้เพิ่มความเป็น "(1/1) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้เสียหาย” ซึ่งให้เพิ่มความดังกล่าวในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558โดยเมื่อนำความที่มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมากำหนดไว้ในมาตรา 14 เป็นดังนี้
" มาตรา 14 คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ
(1) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
(1/1) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้เสียหาย
(2) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
(3) คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว
(4) คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ”
2. การโอนคดีกรณีผู้เสียหายมิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร
กำหนดให้มีการบัญญัติหลักการในบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนคดีจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือนที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษา "คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้เสียหาย” สำหรับกรณีที่คดีดังกล่าวได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารไว้ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นกรณีที่การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามหากการพิจารณาคดีแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออยู่ระหว่าง อุทธรณ์หรือฎีกาก็ให้ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีนั้นต่อไป โดยความที่มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเป็น ดังนี้
" มาตรา 67 บรรดาคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิดกับผู้เสียหายเป็นบุคคล ที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารไว้แล้วก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ หากการพิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จให้โอนคดีนั้นไปยังศาลพลเรือนที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป แต่หากศาลทหารได้พิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออยู่ระหว่าง อุทธรณ์หรือฎีกาก็ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ”
1. เจ้ากรมพระธรรมนูญ
2. ตุลาการพระธรรมนูญ และอัยการทหาร
3. นายทหารพระธรรมนูญ จ่าศาลทหาร และตำแหน่งอื่น ๆ
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
5. ผู้กระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ประกอบด้วย
(1) นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
(2) นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะเมื่อกระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
(3) นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการหรือประจำการ หรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
(4) นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
(5) ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำอยู่ในหน่วยทหาร
(6) พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหาร หรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะในหรือบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
(7) บุคคลซึ่งต้องขังหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. ผู้เสียหายที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร (อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน)
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะกำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพระธรรมนูญศาลทหาร โดยเพิ่มความให้ "คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้เสียหาย” เป็นคดีที่มิได้อยู่ในเขตอำนาจ (jurisdiction) ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะกำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพระธรรมนูญศาลทหาร โดยเพิ่มความในบทเฉพาะกาลให้ บรรดาคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับผู้เสียหายเป็นบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ หากการพิจารณาคดีของศาลทหารยังไม่แล้วเสร็จให้มีการโอนคดีไปยังศาลพลเรือนที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป แต่หากศาลทหารได้พิจารณาแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาก็ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด