โดยที่คลื่นความถี่ของวิทยุภาคประชาชน ที่มีการส่งกระจายเสียงประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับท้องถิ่นที่ส่งกระจายเสียงด้วยกำลังส่งไม่เกินหนึ่งกิโลวัตต์ เป็นการประกอบกิจการขนาดเล็กของชุมชน ไม่สมควรที่จะนำคลื่นความถี่ออกไปประมูลเพราะจะทำให้ผู้ประกอบกิจการรายใหญ่เข้าครอบงำวิทยุภาคประชาชนและวิทยุกิจการบริการชุมชนได้ อีกทั้งต้องการส่งเสริมให้สถานีวิทยุมีรายได้เพียงพอในการประกอบกิจการ นอกจากนี้บทกำหนดโทษทางปกครองที่กำหนดไว้มีอัตราโทษที่สูงเกินสมควร ไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสมกับวิทยุภาคประชาชน และวิทยุกิจการบริการชุมชน หรือวิทยุที่มีกำลังส่งต่ำกว่าหนึ่งกิโลวัตต์ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กรัศมีการส่งกระจายเสียงไปในระยะใกล้ มีรายได้น้อย จึงสมควรแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมเป็นธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารระดับท้องถิ่น และใช้บริการวิทยุภาคประชาชนในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และส่งเสริมวิทยุภาคประชาชนวิทยุกิจการบริการชุมชนให้สามารถประกอบกิจการอยู่ใด้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1. เพิ่มบทนิยามคำว่า "วิทยุภาคประชาชน" และแก้ไขบทนิยามคำว่า "จัดสรรคลื่นความถี่" ให้สอดคล้องกัน (ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4)
2. กำหนดห้ามมิให้นำคลื่นความถี่วิทยุภาคประชาชน วิทยุบริการชุมชน และวิทยุที่กระจายเสียงด้วยกำลังส่ง
ไม่เกินหนึ่งกิโลวัตต์ ออกประมูลคลื่นความถี่ (ร่างมาตรา 5)
3. แก้ไขเพิ่มเติมให้ กสทช. มีหนังสือเตือนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนมีคำสั่งลงโทษทางปกครองและห้ามมิให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่หรือปิดกิจการกระจายเสียง (ร่างมาตรา 6)
4. ให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ประเภทบริการชุมชนประเภทวิทยุ ภาคประชาชน การหารายได้ และการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทบริการชุมชนสามารถมีรายได้จากการบริจาค การอุดหนุนหรือทางอื่น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการสถานีวิทยุ โดยไม่เน้นการแสวงหากำไร (ร่างมาตรา 7)
5. กำหนดอำนาจปรับทางปกครองกรณีผู้ประกอบกิจการวิทยุภาคประชาชน กิจการบริการชุมชุน หรือวิทยุที่ส่งกระจายเสียงด้วยกำลังส่งไม่เกินหนึ่งกิโลวัตต์ ได้รับคำสั่งให้ระงับการดำเนินการในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแล้วไม่ปฏิบัติตามให้ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับวันละไม่เกินหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง (ร่างมาตรา 8)
6. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง หรือผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ทดลองออกอากาศที่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ประเภทบริการสาธารณะ ประเภทบริการชุมชน ประเภทกิจการทางธุรกิจ ที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ประกอบกิจการวิทยุภาคประชาชน และให้คงสามารถประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. โดยให้ กสทช. ออกหลักเกณฑ์ วิธีการว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตประกอบ กิจการวิทยุกระเสียงประเภทบริการสาธารณะ ประเภทบริการชุมชนประเภทกิจการทางธุรกิจ และวิทยุภาคประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงตามวรรคหนึ่ง ดำเนินการยื่นคำขอรับใบขออนุญาต ภายในกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ กสทช. ประกาศหลักเกณฑ์ (ร่างมาตรา 9)
7. กำหนดให้บรรดาโทษ คำสั่งทางปกครอง หรือการดำเนินการใด ๆ ของ กสทช. ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 10)
8. ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 11)