สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวิรัช พันธุมะผล พรรคอนาคตใหม่ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ไม่ได้ให้อำนาจศาลปกครอง ไต่สวน พิจารณา พิพากษา ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในคดี จึงควรให้โอกาสคู่พิพาทสามารถร้องต่อศาลปกครอง เพื่อไต่สวน พิจารณา พิพากษา ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้นได้ยกขึ้นในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือไม่ รวมถึงคู่พิพาทอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อไต่สวน พิจารณา พิพากษาคดีใหม่ได้

 

สาระสำคัญ

เพิ่มความมาตรา 40/1 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนซี่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด โดยในการพิจารณาคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจไต่สวน พิจารณา พิพากษา ในคดีข้อพิพาทโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการได้

คดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาโดยไม่เป็นตามมาตรา 40/1 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คู่พิพาทอาจขอให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวน พิจารณา พิพากษาใหม่ได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานศาลปกครอง
  2. สำนักงานศาลยุติธรรม
  3. สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
  4. สภาอนุญาโตตุลาการ หอการค้าแห่งประเทศไทย
  5. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
  6. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  7. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  8. สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในคดีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ควรเพิ่มกระบวนการในการคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แตกต่างจากคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรให้โอกาสคู่พิพาทสามารถร้องต่อศาลปกครอง เพื่อไต่สวน พิจารณา พิพากษา ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้นได้ยกขึ้นในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือไม่
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรเปิดโอกาสให้คู่พิพาทสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อไต่สวน พิจารณา พิพากษาคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาโดยไม่สอดคล้องกับกระบวนการตามกฎหมายนี้ ก่อนวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ โดยคู่พิพาทอาจขอให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวน พิจารณา พิพากษาใหม่ได้
  4. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น