สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองว่ามีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนนั้น มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งพบว่าการลงโทษนั้นหลายกรณีกลับกลายเป็นการกระทำในลักษณะทารณกรรมหรือทำร้ายอันส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของบุตร เป็นการเฆี่ยนตีบุตร หรือทำโทษด้วยวิธีการอื่นอันเป็นการด้อยค่า ส่งผลกระทบ ต่อพัฒนาการของบุตรและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดหรือพฤติกรรมของบุตรที่จำเป็นต้องว่ากล่าวสั่งสอน ประกอบกับการปรับแก้ไขสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 8 ค.ศ. (2006) (General Comment No.8 (2006) The Right of the Child to Protection from Corporal Punishment and Other Cruel or Degrading Forms of Punishment) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563) อีกด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ กำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร โดยการทำโทษนั้นต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1567 (2))

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  2. กระทรวงยุติธรรม
  3. กระทรวงศึกษาธิการ
  4. กระทรวงสาธารณสุข
  5. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  6. คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
  7. คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  8. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร โดยการทำโทษนั้นต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1567 (2))