โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผล โดยปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมถึงให้หน่วยงานหรือสถาบันเอกชนที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการการพิสูจน์หลักฐานได้ และเพื่อให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สมควรให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญาของข้าราชการตำรวจ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานสอบสวนร่วมกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนที่ดีและมีมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
การมีกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญาที่ได้กำหนดให้มีการบูรณาการการปฏิบัติราชการร่วมกันซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้นในการแจ้งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด โดยประชาชนสามารถที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแก่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้วจะต้องสอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวนซึ่งมีเขตอำนาจ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ห้ามพนักงานสอบสวนที่จะรับแจ้งได้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบการสอบสวนโดยให้พนักงานอัยการสามารถเข้าร่วมให้คำแนะนำในการสอบสวนได้ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้อำนาจในการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการตำรวจ ให้เป็นอำนาจของข้าราชการตำรวจในสายงานสอบสวนตำแหน่งตั้งแต่รองสารวัตรสอบสวนขึ้นไป และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองจเรตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือพนักงานสอบสวนในการดำเนินการสืบสวนหรือการสอบสวน หรือในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่พนักงานสอบสวนมอบหมาย และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด
2. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานวิชาชีพเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน และสายงานอื่น มีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือ และสนับสนุนพนักงานสอบสวนในการสืบสวนหรือการสอบสวน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด
3. เพื่อประโยชน์ในการบริการประชาชนและดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้พนักงานสอบสวนในทุกท้องที่มีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษที่มีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อตน ณ ที่ทำการที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด และเมื่อรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้ว ให้มีหน้าที่สอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวน ซึ่งมีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว โดยให้ถือว่าการร้องทุกข์ การกล่าวโทษ และการสอบสวนดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษทราบด้วยว่าจะส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนซึ่งมีเขตอำนาจแห่งใด
4. กำหนดให้พนักงานสอบสวนต่างท้องที่ในเขตจังหวัดเดียวกันมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาเดียวกัน ผู้บังคับการสอบสวนมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนซึ่งมีเขตอำนาจคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนความผิดอาญานั้นได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกของพยานประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการดำเนินการประกอบกัน โดยผู้บังคับการสอบสวนจะสั่งก่อนเริ่มดำเนินการสอบสวนหรือในระหว่างการสอบสวนก็ได้ ตลอดจนกำหนดให้ในกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญในรถไฟหรือยานพาหนะขนส่งสาธารณะ ให้ผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของหรือควบคุมดูแลรถไฟหรือยานพาหนะขนส่งสาธารณะมีสิทธิร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทุกท้องที่ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด และเมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้ว ให้พนักงานสอบสวนนั้น หน้าที่และอำนาจดำเนินการสอบสวนได้ และเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนหรือเพื่อประสิทธิภาพในการสอบสวน พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ ผู้บังคับการสอบสวนหรือผู้บัญชาการสอบสวนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้น หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะสั่งให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนอื่น เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไปก็ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
5. กำหนดให้ในกรณีที่พนักงานสอบสวนต่างท้องที่และต่างจังหวัดมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาเดียวกัน หรือยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าความผิดอาญาเกิดขึ้นในท้องที่ใด ผู้บัญชาการสอบสวนมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ในสถานีตำรวจหรือกองยังคับการที่อยู่ในเขตอำนาจของตนร่วมกันสอบสวนได้
6. กำหนดให้การสอบสวนต้องกระทำโดยมุ่งให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามความจริง ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ต้องหา และเพื่อจะได้รู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายอ้างพยานหลักฐานใด และนำพยานหลักฐานมามอบให้พนักงานสอบสวนโดยสมัครใจ หรือในกรณีเป็นพยานบุคคลได้นำพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำแก่พนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
7. กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรม หน่วยงานใดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอัตรากำลังเพียงพอ ก.ตร. จะกำหนดให้การสอบสวนบางคดีสำหรับหน่วยงานนั้นต้องดำเนินการเป็นคณะก็ได้ โดยองค์ประกอบของคณะ ประเภทของคดี และวิธีปฏิบัติงานเป็นคณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด
8. กำหนดให้ในสถานีตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าของพนักงานสอบสวนในสถานีตำรวจนั้น เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ในหน่วยงานอื่นข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งในสายงานสอบสวนตำแหน่งใดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ให้เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
9. กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหรือสอบสวนการกระทำความผิด ตามกฎหมายใด พนักงานสอบสวนอาจขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายนั้น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็น
10. กำหนดให้การแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาโดยยังมิได้มีหลักฐานพอสมควรที่แสดงว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้นมิได้
11. กำหนดให้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีดังต่อไปนี้ และได้แจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว ให้แจ้งให้พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจทราบด้วย
(1) คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น (2) คดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการพอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) คดีอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
12. กำหนดให้ในการสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้นั้น เป็นผู้กระทำความผิดแล้ว
13. กำหนดให้ในการค้นไม่ว่าจะมีหมายค้นหรือไม่ ห้ามมิให้เจ้าพนักงาน หรือพนักงานสอบสวนแจ้งหรือเผยแพร่ให้บุคคลอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่ในการค้นทราบ หรือยินยอม ให้บุคคลซึ่งไม่มีหน้าที่ดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่ค้นหรือบันทึกภาพหรือเสียงในการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวน เว้นแต่ผู้ถูกค้นหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ที่ค้น จะเป็นผู้บันทึกภาพหรือเสียงหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนั้นบันทึกภาพหรือเสียง
14. กำหนดให้ในกรณีผู้ต้องหาถูกขังอยู่หรืออยู่ในระหว่างที่ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ส่งสำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันครบกำหนดขังผู้ต้องหาครั้งสุดท้าย (2) ในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ส่งสำนวนม่น้อยกว่าสิบสี่วันก่อนวันครบกำหนดขังผู้ต้องหาครั้งสุดท้าย
15. กำหนดให้เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานมาให้ซักถามหรือส่งพยานหลักฐานอื่นมาใช้ประกอบสำนวน หรือเมื่อมีเหตุอันควร พนักงานอัยการ จะไปร่วมสอบสวนเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนหรือจะดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเอง ก่อนมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้
16. กำหนดให้ในกรณีปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากการพิสูจน์ของหน่วยงานหรือสถาบันเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์หลักฐานซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในหรือต่างประเทศ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการอาจใช้ดุลยพินิจนำมาประกอบเป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้
17. กำหนดให้ในกรณีที่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวน หรือผู้มีส่วนได้เสียร้องโดยมีพยานหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลอื่นใดมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในสำนวนใดให้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาเพิ่มเติมในสำนวนนั้นได้
18. กำหนดให้ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งให้ผู้บังคับการสอบสวนพิจารณา ถ้าผู้บังคับการสอบสวนไม่แย้งคำสั่งดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับสำนวน ให้ถือตามความเห็นของพนักงานอัยการ ถ้ามีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการสอบสวน หรือเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่น อันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บังคับการสอบสวนไปก่อน ความเห็น ของอัยการสูงสุดให้เป็นที่สุด
19. กำหนดให้เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องให้อัยการแจ้งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทราบและให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรบันทึกคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องไว้ในประวัติของบุคคลนั้น ในกรณีที่มีผู้ขอตรวจสอบประวัติของบุคคลนั้น ให้ผู้มีอำนาจแจ้งประวัติแจ้งด้วยว่า มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีผู้นั้นหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องแล้ว และเมื่อพ้นกำหนดอายุความในการดำเนินคดีนั้นแล้ว ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรลบประวัติอาชญากรรมที่บันทึกไว้ดังกล่าวของบุคคลนั้นโดยพลัน
20. ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อัยการสูงสุด มีอำนาจออกกฎหรือระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของพนักงานอัยการ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจออกกฎหรือระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ และในกรณีที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการและข้าราชการตำรวจ อัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะออกกฎหรือระเบียบร่วมกันก็ได้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้