สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวิรัช พันธุมะผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยการจับและคุมขังบุคคลไม่สามารถกระทำได้นอกจากจะมีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีบทสันนิษฐานการกระทำความผิดในคดีอาญาไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ให้ได้รับการประกันตัวด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ในการประกันตัว เพราะจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จนในที่สุดศาลพิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย การนำผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าไปควบคุมในเรือนจำน่าจะเกิดผลที่ไม่เหมาะสมมากกว่าที่จะให้มีโอกาสประกันตัวเอง และการประกันด้วยหลักทรัพย์หรือมีผู้ค้ำประกันทำให้เกิดภาระแก่ผู้ถูกกล่าวหาจนทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเดือดร้อนหรือไม่ได้รับการประกันตัว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้น

สาระสำคัญ

แก้ไขในเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหา กล่าวคือ เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับหรือมีผู้ส่งผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญาส่งต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ หรือพนักงานอัยการส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาล แล้วแต่กรณี ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือศาลดำเนินการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้คำรับรองตนเองว่าไม่อยู่ระหว่างเวลาที่มีคำพิพากษาให้รอการลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ หรือพ้นโทษจำคุกมาเกินกว่า 3 ปี ให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการหรือศาล ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันตัวด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยเร็วที่สุด เว้นแต่การกระทำความผิดดังต่อไปนี้
(1) การกระทำความผิดที่กฎหมายระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือที่กฎหมายระวางโทษขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป
(2) การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายมาตรา 335 มาตรา 335 ทวิ
(3) การกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 มาตรา 336 ทวิ
(4) การกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 มาตรา 338มาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 มาตรา 340 ทวิ และมาตรา 340 ตรี
(5) การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงต่อประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ มาตรา ๓๔๔ ที่มีมูลค่าการฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป
(6) ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ไปศาลตามที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือที่ศาลนัด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(7) เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยรับรองอันเป็นเท็จว่าไม่อยู่ระหว่างเวลาที่มีคำพิพากษาให้รอการลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ หรือพ้นโทษจำคุกมาเกินกว่า 3 ปี
(8) การกระทำความผิดอาญาอื่นตามประกาศของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. ศาลยุติธรรม
  2. สำนักงานอัยการสูงสุด
  3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
     

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับหรือมีผู้ส่งผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญาส่งต่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ หรือพนักงานอัยการส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาล แล้วแต่กรณี ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือศาลดำเนินการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้คำรับรองตนเองว่าไม่อยู่ระหว่างเวลาที่มีคำพิพากษาให้รอการลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ หรือพ้นโทษจำคุกมาเกินกว่า 3 ปี ให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการหรือศาล ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันตัวด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยเร็วที่สุด
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า โทษฐานความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ทั้ง 8 กรณี ดังต่อไปนี้ ไม่ควรให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิประกันตัวตามข้อ 1.
  • (1) การกระทำความผิดที่กฎหมายระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือที่กฎหมายระวางโทษขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป
  • (2) การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายมาตรา 335 มาตรา 335 ทวิ
  • (3) การกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 มาตรา 336 ทวิ
  • (4) การกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 มาตรา 338มาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 มาตรา 340 ทวิ และมาตรา 340 ตรี
  • (5) การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงต่อประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 มาตรา 344 ที่มีมูลค่าการฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป
  • (6) ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ไปศาลตามที่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือที่ศาลนัด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • (7) เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยรับรองอันเป็นเท็จว่าไม่อยู่ระหว่างเวลาที่มีคำพิพากษาให้รอการลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ หรือพ้นโทษจำคุกมาเกินกว่า 3 ปี
  • (8) การกระทำความผิดอาญาอื่นตามประกาศของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด