สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ พรรคเพื่อไทย กับคณะผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

  1. พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 45 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรี มีอำนาจจ่ายเงินทุนสำรองจำนวนห้าหมื่นล้านบาทจากคลังเพื่อนำไปใช้ในกรณีที่มีความจำเป็น และเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 141 ที่บัญญัติว่างบประมาณรายจ่ายแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา อีกทั้งการจ่ายเงินในกรณีดังกล่าว คณะรัฐมนตรี มีอำนาจที่จะจ่ายเงินจากงบกลางได้
  2. เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 50,000 ล้านบาท เป็นวงเงินแยกต่างหากจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 45 อนุญาตให้มีสำรองไว้เพื่อเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายในกรณีที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินเท่านั้น และจะต้องไม่มีแหล่งเงินอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้อีกแล้ว ซึ่งหน่วยรับงบประมาณจะขอใช้จ่ายได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่งบประมาณปกติและงบกลางรายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ตั้งไว้ในแต่ละปีไม่เพียงพอแล้ว และต้องผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ หากมีการใช้เงินทุนสำรองจ่ายไปแล้ว ก็จะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในโอกาสแรกที่กระทำได้
  3. การกำหนดให้มีเงินทุนสำรองจ่ายดังกล่าวเป็นหลักการเดิมที่บัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ซึ่งกำหนดวงเงินไว้เป็นจำนวน 100 ล้านบาท สำหรับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดเพิ่มวงเงินเป็น 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และได้เพิ่มหลักเกณฑ์การใช้จ่าย โดยกำหนดให้ใช้ได้เมื่องบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไม่เพียงพอเท่านั้น
  4. เงินทุนสำรองจ่ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นวงเงินตายตัว ที่ผ่านมารัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงินทุนสำรองในจำนวนเงินที่สูงขึ้นทุกปีเกินกว่าวงเงิน 100 ล้านบาท บางปีเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีไม่มีการใช้เงินทุนสำรองวงเงิน 100 ล้านบาท เนื่องจากเงินทุนสำรองจ่ายดังกล่าวมีจำนวนไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงได้นำหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 ของกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังมาใช้ ซึ่งไม่มีการกำหนดเพดานการใช้เงินไว้ แต่เจตนารมณ์เดิมของการมีเงินทุนสำรองจ่ายยังคงต้องรักษาไว้ จึงได้เพิ่มวงเงินเป็น 50,000 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ดังที่กล่าวมาแล้ว
  5. เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนเงินทุนสำรองจ่ายต่องบประมาณรายจ่ายประจําปีสำหรับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 แล้วพบว่าสัดส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 และ 1.6 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีนั้น ๆ ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เงินทุนสำรองจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2502 วงเงิน 100 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มมากขึ้น
  6. ในรอบปีที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยใช้เงินทุนสำรองจ่าย 50,000 ล้านบาทมาก่อน

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ขออนุมัติและสั่งจ่ายเงินทุนสำรองจ่าย
  2. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณและเป็นผู้ปฏิบัติตามให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
  3. ผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ ในฐานะผู้ที่มีส่วนในการใช้จ่ายเงินทุนสำรองจ่าย

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

"การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินต้องได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อนหรือไม่”