แม้ว่าในปัจจุบันจะมีช่องทางในการโฆษณาสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพหลากหลายช่องทางแต่ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายยังคงโฆษณาสินค้าและบริการโดยการโทรศัพท์ไปนำเสนอยังหมายเลขโทรศัพท์ส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการรบกวนผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของหมายเลข อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงผู้บริโภคได้โดยง่าย ดังนั้น เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและลดโอกาสในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ จึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีมาตรการในการป้องกันมิให้มีการโฆษณาสินค้าและบริการโดยการโทรศัพท์ไปนำเสนอยังหมายเลขโทรศัพท์ส่วนบุคคลโดยมิได้รับอนุญาต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประเด็นประกอบการพิจารณา
1) มีการกำหนดห้ามมิให้โฆษณาสินค้าหรือบริการโทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ส่วนบุคคลซึ่งลงทะเบียนเปิดใช้ภายในประเทศ
2) ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่ง ดังต่อไปนี้
- ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา
- ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
- ห้ามการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา
- ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณากำหนด
3) มีการกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 23/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ