ประเทศไทยเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูง กลุ่มที่อาศัยตั้งถิ่นฐานบนเกาะแก่งหรือชายฝั่งซึ่งดำรงชีพด้วยการทำประมงและมีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลกลุ่มที่อาศัยในป่าซึ่งดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ราบซึ่งมีวิถีชีวิตกลมกลืนกับคนไทยทั่วไปแต่ยังคงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างทางเชื้อชาติ มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนา
ของตน มีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีเสรีภาพในการร่วมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ มีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้การรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยังให้สัตยาบันเป็นภาคีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยต้องถือปฏิบัติด้วย เนื่องจากผลการพัฒนาประเทศไทยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากอดีตถึงปัจจุบัน ส่งผลให้วิถีชีวิต อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี ภาษาดั้งเดิมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้เริ่มจางหายไปจากสังคมและยังถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างแห่งเชื้อชาติและภาษา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ยังมีความด้อยสิทธิและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะของบุคคล การมีสิทธิอาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีการทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของทางราชการซึ่งไม่สามารถอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ขาดการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจกรรมหรือกิจการของรัฐหรือเอกชนที่อาจกระทบต่อสิทธิ วิถีชีวิต และชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดบทนิยามคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” “ชนเผ่าพื้นเมือง” “ชุมชน” “สิทธิชุมชน” “ที่ดินของรัฐ” และ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” (ร่างมาตรา 4)
(2) กำหนดขอบเขตสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยการกำหนดให้มีสิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษา สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการกำหนดตนเอง สิทธิในความเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิในการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ (ร่างมาตรา 6 – ร่างมาตรา 17)
(3) กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองให้คำแนะนำแก่คณะรัฐมนตรีในการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการกำกับและติดตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการกำหนด เป็นต้น (ร่างมาตรา 18 – ร่างมาตรา 28)
(4) กำหนดให้มีสภากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความเข้าใจอันดีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกับสังคม เสนอนโยบายต่อคณะกรรมการ ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองให้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐเป็นต้น (ร่างมาตรา 29 – ร่างมาตรา 42)
(5) กำหนดให้มีข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองโดยการกำหนดให้มีคณะกรรมการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
(ร่างมาตรา 43 – ร่างมาตรา 45)
(6) กำหนดให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยการให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดพื้นที่คุ้มครองได้ ตลอดจนการกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทำหน้าที่จัดทำธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครอง ประเมินผลการดำเนินการตามแผนแม่บท เสนอแนะการปรับปรุงแผนแม่บทต่อคณะกรรมการ เป็นต้น (ร่างมาตรา 46 – ร่างมาตรา 50)
(7) การกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ
ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 51 – ร่างมาตรา 61)