โดยที่ปัจจุบันการประกอบธุรกิจทางการเงินของธนาคารมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่การดำเนินการของธนาคารโดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในการแสวงหากำไรและผลประโยชน์ทางการเงินเป็นหลัก ดังนั้น เพื่อให้มีธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เป็นสถาบันทางการเงินที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและปลูกฝังให้ประชาชนมีศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม และปลูกจิตสำนึกให้รู้รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติ สมควรจัดตั้งธนาคารพุทธแห่งประเทศไทยตามแนวทางพุทธวิถีขึ้น เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการระดมเงินออมและการลงทุน อันจะเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและสร้างเสริมศีลธรรม จริยธรรมและคุณธรรมควบคู่กันไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
1. กำหนดให้มีการจัดตั้งธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และจัดตั้งสาขาหรือสำนักงานผู้แทน
ณ ที่ใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ (ร่างมาตรา 5 – มาตรา 6)
2. กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารพุทธแห่งประเทศไทยไว้ 2,000,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 200,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท โดยให้รัฐจ่ายเป็นทุนประเดิม จำนวน 1,000,000,000 บาท และให้ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทยขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่นจำนวน 1,000,000,000 บาท ซึ่งธนาคารต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่
ไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 51 และต้องมีกรรมการเป็นบุคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3ของจำนวนกรรมการทั้งหมด รวมถึงกำหนดให้ภายหลังที่ธนาคารได้มีผู้ถือหุ้น และได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมาใช้บังคับแก่ธนาคารโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 7 – มาตรา 11)
3. กำหนดให้ธนาคารมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจทางการเงินตามแนวทางวิถีพุทธเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนประกอบกิจกรรมหรือดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักตามแนวทางพระพุทธศาสนาในการส่งเสริมและปลูกฝังให้ประชาชนมีศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมและปลูกจิตสำนึกให้รู้รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติ และประกอบกิจการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงห้ามมิให้ธนาคารกระทำการใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร่างมาตรา 12 – มาตรา 13)
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย กำหนดองค์ประกอบวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 16 – มาตรา 20)
5. กำหนดให้คณะกรรมการธนาคารพุทธแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและกำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของธนาคารภายในขอบวัตถุประสงค์ รวมถึงมีอำนาจต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคารและให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ตลอดจนกำหนดให้ผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของธนาคารทุกตำแหน่งในกิจการของธนาคารที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของธนาคาร และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการ (ร่างมาตรา 23 – มาตรา 29)
6. กำหนดให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพัน กำหนดให้ธนาคารดำรงเงินสดสำรองและดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับเงินฝากและเงินให้ยืม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีให้คณะกรรมการจัดสรรเป็นเงินสำรองไว้ในกิจการของธนาคารไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ (ร่างมาตรา 30 – มาตรา 32)
7. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการของธนาคาร โดยจะสั่งให้ธนาคารชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแล (ร่างมาตรา 33)
8. กำหนดให้คณะกรรมการธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย สอบบัญชีของธนาคาร เสนองบดุล บัญชีกำไรขาดทุน ต่อที่ประชุมสามัญประจำปีเพื่อพิจารณา และให้เสนอรายงานกิจการประจำปีของธนาคารต่อที่ประชุมสามัญประจำปีพร้อมกันด้วย และกำหนดให้ธนาคารรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรขาดทุน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อทราบและให้เปิดเผยต่อสาธารณชนทราบด้วย (ร่างมาตรา 34 – มาตรา 36)
9. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ ลูกหนี้ และผู้ที่เกี่ยวข้องของธนาคารเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะก็ได้ (ร่างมาตรา 37)
10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร ผู้สอบบัญชีของธนาคาร และผู้รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของธนาคารด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยอุปกรณ์อื่นใด มาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับกิจการสินทรัพย์ และหนี้สินของธนาคาร ส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราหรือหลักฐานอื่น มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของธนาคาร หรือสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของธนาคารด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยอุปกรณ์อื่นใดเพื่อตรวจสอบ และมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี รวมถึงมีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานในสถานที่ประกอบธุรกิจของลูกหนี้ของธนาคาร รวมทั้งสั่งให้ลูกหนี้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ส่งสำเนา หรือแสดงสมุดและบัญชี เอกสารดวงตราหรือหลักฐานอื่นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัย (ร่างมาตรา 38)
11. กำหนดโทษผู้เปิดเผยกิจการของธนาคารที่สงวนไว้ กำหนดโทษกรณีธนาคารกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกำหนดโทษผู้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงกำหนดโทษกรณีกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนธนาคารฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย กระทำการฉ้อโกงประชาชน กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต กระทำการยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (ร่างมาตรา 40 – มาตรา 49)