ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายนพดล แก้วสุพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเสนอกฎหมายฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 133 (2) เพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยมีบทบัญญัติทั้งหมด จำนวน 26 มาตราซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางที่เป็นมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้รัฐและพุทธศาสนิกชนร่วมกันอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กำหนดให้มีองค์กรและหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติและรับผิดชอบในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน อุปถัมภ์ และคุ้มครองการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รวมถึงกำหนดมาตรการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา เป็นต้น โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้มิได้มีการกำหนดบทลงโทษซึ่งจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และเป็นไปอย่างสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ทั้งนี้ ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม ในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”
อย่างไรก็ตามเนื่องจากบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัตินี้ในมาตรา 24 ได้กำหนดหลักการให้ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายตามประมวลรัษฎากรได้นั้น ย่อมทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลงอันจะส่งผลทำให้รัฐได้รับเงินรายได้ลดลง ด้วยเหตุดังกล่าวร่างพระราชบัญญัตินี้จึงมีสาระเกี่ยวข้องกับการจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน ดังนั้น จึงเข้าลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134 (2) จึงต้องเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีคำรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 133 วรรคสอง ต่อไป
คลิกเอกสารประกอบ เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- นายกรัฐมนตร
- ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปลัดกระทรวงการคลัง
- ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- ปลัดกระทรวงมหาดไทย
- ปลัดกระทรวงยุติธรรม
- ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
- ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
- อัยการสูงสุด
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
- นายกสภาทนายความ
- ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
- ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เลขาธิการมหาเถรสมาคม
- ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
- ผู้ว่าราชการจังหวัด
- เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายมหานิกาย
- เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุต
- ผู้แทนองค์กรทางพระพุทธศาสนา
- ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
- พุทธศาสนิกชน
- ประชาชนที่นับถือศาสนาอื่น หรือมิได้นับถือศาสนาใด
- ประชาชนทั่วไป
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยกับการให้มีกฎหมายการส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่รองรับไว้หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการหลักการทั่วไปซึ่งกำหนดให้รัฐและพุทธศาสนิกชนต้องร่วมกันอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตามร่างมาตรา 5 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ซึ่งมีการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการตามร่างมาตรา 6 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตามร่างมาตรา 11 การกำหนดหลักการเกี่ยวกับการประชุมตามร่างมาตรา 12 และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ตามร่างมาตรา 13 หรือไม่อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง (ตามร่างมาตรา 7 - ร่างมาตรา 10) ของกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกรรมการผู้แทนจากองค์กรทางพระพุทธศาสนาตามร่างมาตรา 6 (4) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามร่างมาตรา 6 (5) หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการและรับผิดชอบงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามตามร่างมาตรา 14 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “สมัชชาอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด” ซึ่งมีการกำหนดกระบวนการต่าง ๆ ตามร่างมาตรา 15- ร่างมาตรา 17 และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสมัชชาฯ ตามร่างมาตรา 20 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “คณะกรรมการสมัชชาอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด” โดยมีการกำหนดองค์ประกอบ และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ตามร่างมาตรา 18 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มี “กองทุนเพื่อการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เงินและทรัพย์สินของกองทุน องค์ประกอบและหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง และการนำเงินที่บริจาคเข้ากองทุนมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี ตามร่างมาตรา 22 - ร่างมาตรา 24 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้พระภิกษุหรือสามเณรได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ตามร่างมาตรา 25 - ร่างมาตรา 26 หรือไม่ อย่างไร
- ท่านมีความเห็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร