โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ และเป็นที่มา ของหลักศีลธรรม ปัญญาและความเข้มแข็งของสังคมไทยมาช้านาน อันถือได้ว่าเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบกับมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ทั้งนี้ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ให้รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการและกลไกดังกล่าวด้วย จึงสมควรให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติและรับผิดชอบในการกำกับดูแลและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและกำหนดแนวนโยบายหรือแนวทางในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมให้รัฐและพุทธศาสนิกชนในการดำเนินการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ดังนี้
1. กำหนดความหมายบทนิยามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... (ร่างมาตรา 3)
2 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... โดยให้มีหน้าที่และอำนาจออกระเบียบและประกาศเพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาบรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย (ร่างมาตรา 4)
3 กำหนดมาตรการการสนับสนุน ส่งเสริมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อให้รัฐ
และพุทธศาสนิกชนใช้เป็นแนวทางในการการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา (ร่างมาตรา 5)
4. กำหนดให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติและรับผิดชอบในการกำกับดูแลและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและกำหนดแนวนโยบายหรือแนวทางในการการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นองค์กรหรือหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่กำหนดนโยบายหรือแนวทางในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และกำหนดให้มีคณะกรรมการสมัชชาอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทำหน้าที่และมีอำนาจในการขับเคลื่อนและดำเนินการตามนโยบายหรือแนวทางในในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาโดยให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่หน่วยงานธุรการและรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้งสอง (ร่างมาตรา 6 – มาตรา 21 )
5. กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน เป็นองค์กรหรือหน่วยงานปฏิบัติในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน (ร่างมาตรา 22 – มาตรา 24)
6. กำหนดมาตรการแนวทางการคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองและการให้ความช่วยเหลือทางคดีให้กับพระภิกษุหรือสามเณรที่ถูกกล่าวว่ากระทำความผิดอาญา (ร่างมาตรา 25 – มาตรา 26 )